จีนเก็บภาษีทุ่มตลาดสำหรับน้ำตาลนำเข้าที่นอกโควต้า
1 Jun 2017เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2560 กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดสำหรับน้ำตาลนำเข้าที่นอกโควต้า หลังจากการตรวจสอบเป็นเวลาหลายเดือนตามข้อร้องเรียนของผู้ผลิตน้ำตาลภายในจีนที่คัดค้านการนำเข้าน้ำตาลที่มีราคาถูกซึ่งกระทบธุรกิจน้ำตาลภายในจีนอย่างหนัก โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลใช้ในระยะเวลา 3 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2560 และอัตราภาษีการทุ่มตลาดในปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 45 ในปีที่ 2 เหลือร้อยละ 40 และเหลือร้อยละ 35 ในปีที่ 3
ตามคำร้องเรียนของผู้ผลิตน้ำตาลในจีน ในช่วงปี 2554-2559 ปริมาณการนำเข้านำตาลของจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งกระทบธุรกิจน้ำตาลภายในจีนอย่างหนัก เช่น ในปี 2554 ราคาน้ำตาลในจีนอยู่ที่ 7,600 หยวน/ตัน แต่ถึงปี 2557 ราคาน้ำตาลในจีนลดลงเหลือ 4,000 หยวน/ตัน ซึ่งเป็นราคาจำหน่ายที่ถูกกว่าต้นทุนการผลิตที่อยู่ที่ราว 4,300 หยวน – 4,800 หยวน/ตัน
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในโลก โควต้าการนำเข้าน้ำตาลอยู่ที่ 1.94 ล้านตันต่อปี โดยจีนเก็บภาษีน้ำตาลนำเข้าที่อยู่ในโควต้าที่ร้อยละ 15 และเก็บภาษีน้ำตาลนำเข้านอกโควต้าที่ร้อยละ 50 ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าน้ำตาลเฉลี่ยของสมาชิก WTO ที่ร้อยละ 97
การประกาศเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดครั้งนี้ จะทำให้น้ำตาลนอกโควต้าต้องเสียภาษีรวมอยู่ที่ร้อยละ 95 คาดว่าจะทำให้ราคา CIF ของน้ำตาลนำเข้าเพิ่มขึ้นจากราว 4,000 หยวน/ตันเป็น 6,000 หยวน/ตัน ซึ่งจะช่วยให้น้ำตาลที่ผลิตในจีนสามารถแข่งขันกับน้ำตาลนำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้น
หลังจากจีนประกาศเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดดังกล่าว สมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิล (UNICA) ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลไปจีนรายใหญ่ที่สุด คาดว่า การเก็บภาษีทุ่มตลาดดังกล่าวจะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลของบราซิลลดลง 8 แสนตันต่อปี
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกน้ำตาลของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่างบราซิล และออสเตรเลีย ที่ต้องเสียค่าขนส่งมากกว่าไทย เนื่องจากอยู่ไกลจีนมากกว่า และหลังจากนี้ผู้ส่งออกไทยอาจจะต้องเร่งการส่งออกน้ำตาลไปจีนผ่านการใช้โควต้าเพื่อลดต้นทุน
อนึ่ง ในปี 2559 ไทยเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับที่ 5 ของจีน โดยปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปจีนอยู่ที่ 179,554 ตัน และครองสัดส่วนร้อยละ 5.9 ของปริมาณน้ำตาลที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด (รองจากบราซิลร้อยละ 65 คิวบาร้อยละ 14.3 ออสเตรเลียร้อยละ 6.4 และเกาหลีใต้ร้อยละ 6.4)
<span style="FONT-SIZE: 16pt; I: left><I><SPAN" 16pt;?cordia="" new?,?sans-serif?;
แหล่งข้อมูล:
http://www.gsmn.com.cn/eportal/ui/?pageId=329300&articleKey=909497&columnId=331515