จีนยังครองตำแหน่ง “โรงงานของโลก” ในอีก 10 ปีข้างหน้า แม้กระแสเริ่มย้ายไปอาเซียน
20 Feb 2013เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจจีนได้แซงหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ใหญ่อันดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้จีนครองตำแหน่ง "โรงงานของโลก" มานานหลายปี แต่หากเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากความได้เปรียบต้นทุนทางด้านแรงงานลดลง อุตสาหกรรมบางส่วนในจีนกำลังย้ายไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีการเร่งกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมรอบใหม่ (Reindustrialization) อุตสาหกรรมการผลิตของจีนจึงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอีกครั้ง
ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า นายเผย เฉียงหง หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานของจีนกำลังลดลงไปเรื่อยๆ โดยสถิติจาก Economist Intelligence Unit (EIU) ชี้ว่า ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนแรงงานของจีนมีการเพิ่มขึ้น 4 เท่า โดยต้นทุนค่าแรงงานต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้นจาก 0.6 ดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2543 เป็น 2.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2554 ซึ่งเท่ากับ 1.5 เท่าของไทย 2.5 เท่าของฟิลิปปินส์ และ 3.5 เท่าของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ต้นทุนด้านวัตถุดิบและทรัพยากรก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปลายปี 2554 ราคาที่ดินในเมืองหลักๆ ที่มีการสำรวจเฉลี่ยอยู่ที่ 3,049 หยวนต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับปลายปี 2548
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มใหม่ทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตสองประเภท ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการผลิตบางส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงย้ายกลับไปยังสหรัฐอเมริกา 2) อุตสาหกรรมการผลิตบางส่วนย้ายไปยังประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนทางด้านแรงงานต่ำกว่า อย่างเช่น ในปี 2543 จีนผลิตรองเท้าไนกี้ร้อยละ 40 ของทั่วโลก ผลิตโดยเวียดนามเพียงร้อยละ 13 แต่พอถึงปี 2552 ทั้งสองประเทศต่างมีการผลิตรองเท้าไนกี้ร้อยละ 36 ของทั่วโลก ถัดมาปี 2553 เวียดนามได้แซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่ผลิตรองเท้าไนกี้มากที่สุด ตาม รายงานการลงทุนของโลกประจำปี 2555 เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าไปยังประเทศอาเซียนสูงถึง 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 26 ขณะที่เงินทุนที่ไหลเข้าจีนมีการเติบโตเพียงร้อยละ 8
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตลอดจนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นย้ายฐานไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน จีนจึงจำเป็นต้องปรับยกระดับคุณภาพด้านต่างๆของการเป็น "โรงงานของโลก" เพื่อรักษาตำแหน่งดังกล่าวต่อไป อาทิ เพิ่มการลงทุนทางด้านการศึกษาและการอบรม เพิ่มความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มบทบาทในการจัดทำมาตรฐานสากล ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้สูงขึ้น
นายเผย เฉียงหง เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆยังไม่มีความสามารถที่จะกลายเป็น "โรงงานของโลก" แห่งใหม่ ด้วยเหตุผล 1) ไม่มีประเทศใดที่สามารถรองรับการย้ายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากได้เท่ากับจีน 2) คุณภาพแรงงานของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำลังกลายเป็นปัจจัยได้เปรียบใหม่ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หากมองจากยอดรวมของปริมาณทรัพยากรแรงงาน จีนยังสามารถคงความได้เปรียบและครองตำแหน่ง "โรงงานของโลก" ในอีก 10 ปีข้างหน้าต่อไป โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนจะยังคงรักษาต้นทุนค่าแรงในระดับต่ำได้ต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นบางส่วนอาจย้ายฐานไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน