จับ 6 ประเด็นการค้าต่างประเทศกว่างซีช่วงไตรมาสแรก ปี 56
17 Apr 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ไตรมาสแรก ปีนี้ (ปี 56) การค้าต่างประเทศของกว่างซีขยายตัวเพียงเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจฝืดตัว
ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. 56 การค้าต่างประเทศกว่างซีมีมูลค่า 6,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 18 ของประเทศ และอันดับ 3 ของมณฑลทางภาคตะวันตก) ขยายตัวร้อยละ 5.8 ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าส่งออก 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ19.2
ช่วงไตรมาสแรก กว่างซีมีข้อสังเกตทางการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
หนึ่ง สถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีความผันผวน กล่าวคือ กว่างซีเปิดศักราชใหม่ด้วยตัวเลขการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 35.1 (2,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ตัวเลขการขยายตัวกลับร่วงลงมากถึงร้อยละ 28.1 ในเดือน ก.พ. (1,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกระเตืองขึ้นมาเล็กน้อยละที่ร้อยละ 6.7 ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา (2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สอง การค้าทั่วไป (การค้าสากล) เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ด้วยตัวเลขการค้า 3,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.8 ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศกว่างซี
ขณะที่การค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน (Petty Trade in the Border Areas) มีมูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 37.5 สัดส่วนต่อมูลค่าการค้ารวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 เป็นร้อยละ 31.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าการส่งออก 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 56.2 โดยเฉพาะเดือน มี.ค. เพียงเดือนเดียว การค้ามูลค่าต่ำฯ มียอดสูงถึง 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 79 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของยอดการค้าตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
สะท้อนให้เห็นว่า กว่างซียังคงอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งติดเวียดนามและนโยายการค้าชายแดนเป็นโอกาสในการทำการค้าต่างประเทศ
สาม รัฐวิสาหกิจมีบทบาททางการค้าต่างประเทศกว่างซีมากขึ้น ด้วยตัวเลขการนำเข้าส่งออก 2,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 46.4 แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.2 เท่า และมูลค่านำเข้า 1,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.6
สี่ การค้ากับ “อาเซียน” ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้า ตลาดส่งออก และตลาดนำเข้าวัตถุดิบสำคัญของกว่างซี ทั้ง 2 ฝ่ายมีมูลค่าการค้า 2,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.3 สัดส่วนต่อมูลค่าการค้ารวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.6 เป็นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในจำนวนข้างต้น แบ่งเป็นมูลค่าส่งออกไปอาเซียน 2,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 43.7 และมูลค่านำเข้าจากอาเซียน 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13 (กว่างซีได้ดุลการค้าอาเซียน 1,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ห้า เมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดนติดเวียดนาม)เป็นเมืองที่มียอดการค้าต่างประเทศสูงสุดของกว่างซี อันดับรองลงมาได้ นครหนานหนิง และเมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市)
ยอดการค้าต่างประเทศของ 3 เมืองข้างต้น มีมูลค่า 1,860 / 950 และ 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 37 , 11.5 และ10.9 ตามลำดับ
หากนับเฉพาะ 4 เมืองเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (นครหนานหนิง เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองชินโจว และเมืองเป๋ยไห่) มีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 3,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.8 ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศของกว่างซี
หก โครงสร้างสินค้าส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง
(1) เครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่า 1,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.8 ของมูลค่ารวมการส่งออก
(2) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 90.6
(3) สินค้าเกษตร มีมูลค่า 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22.6
(4) เส้นใยและสิ่งทอ มีมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 60.3 และ
(5) สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล มีมูลค่า 48.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8