จับเทรนด์การปฏิรูปอุตสาหกรรมกว่างซี เบนเข็มสู่ระบบอุตฯ และสารสนเทศ

11 Dec 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ปีหน้า ทางการกว่างซีกำหนดแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรม 6 ประการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการผสมผสานระบบอุตสาหกรรม (Industrialization) กับระบบสารสนเทศ (informationization) อย่างสอดคล้องกัน

แนวทางการพัฒนาและปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรม 6 ประการ ประกอบด้วย

หนึ่ง บ่มเพาะธุรกิจต้นแบบการพัฒนาและผสมผสานอุตสาหกรรมกับระบบสารสนเทศ โดยเน้นกิจการที่อยู่ในขอบข่ายอุตสาหกรรมมีมูลค่าการผลิตมากกว่า 1 แสนล้านหยวน อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็ก

สอง สร้างเส้นทางห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Roadmap) โดยเน้นภาคอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานความพร้อมและมีศักยภาพกพร้อมสำหรับการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมกับระบบสารสนเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมแปรรูปอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร

สาม กำหนด แนวทางการผลักดันการบูรณาการระบบอุตสาหกรรมกับระบบสารสนเทศของนิคมอุตสาหกรรมในเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมระดับมณฑล (ประเภท A) และระดับประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ เช่น เครือข่ายความเร็วสูง (Gigabit networks) ระบบ WiFi และศูนย์ Cloud Computing

นอกจากนี้ ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน  2-3 ปี นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว และเมืองกุ้ยหลินจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมนำร่องได้อย่างน้อยเมืองละ 3 แห่ง ส่วนเมืองอื่น ๆ ต้องมีนิคมนำร่องอย่างน้อย 1 แห่ง

สี่ สนับสนุนให้วิสาหกิจ SMEs ในกว่างซีใช้ประโยชน์จากระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) อาทิ Alibaba.com, trade2cn.com และ Mop.com เพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน เป็นการสร้างกลไกการจับคู่ระหว่างวิสาหกิจ และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจผ่านระบบอินเตอร์เน็ตให้เกิดความแพร่หลาย

ห้า ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสหากิจกับผู้ให้บริการด้านสารสนเทศ จัดตั้งระบบไอที (IT) พัฒนาระบบสารสนเทศที่มีความเหมาะสมกับวิสาหกิจ ส่งเสริมให้วิสาหกิจลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการสร้างสรรค์การปรับปรุงเทคโนโลยีและอุปกรณ์สารสนเทศ

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีอัตราการใช้เครื่องมือออกแบบเชิงดิจิตอลและมีอัตราการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยควบคุมการทำงานเครื่องจักรกลอัตโนมัติร้อยละ 75 และ 70 ตามลำดับ

ขณะที่วิสาหกิจขนาดใหญ่จะมีอัตราการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและอัตราความแพร่หลายในการใช้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 85 และ 75 ตามลำดับ

หก ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตที่มีความทันสมัยในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุปกรณ์เทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อผลักดันการพัฒนาขนานใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมเกิดใหม่ อาทิ Internet of things (TOT), Cloud Computing, RFOD และ QR Code รวมถึงระบบงานพิมพ์สามมิติ เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน