จับตา “อุตสาหกรรมเดินเรือและโลจิสติกส์” ภาคธุรกิจดาวรุ่งของกว่างซีกับไต้หวัน
24 Jun 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : หลายปีมานี้ กว่างซีกับไต้หวันมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าในภาคธุรกิจท่าเรือและโลจิสติกส์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจกลับพบว่า นักลงทุนไต้หวันยังมีอยู่น้อยราย
บุคคลในแวดวงธุรกิจที่เข้าร่วม “ฟอรั่มการยกระดับอุตสาหกรรมกับความร่วมมือระหว่างกว่างซี-ไต้หวัน ปี 56” ต่างเห็นว่า ธุรกิจท่าเรือและการเดินเรือสมุทร และธุรกิจโลจิสติกส์จะเป็นความร่วมมือ “ดาวรุ่ง” ระหว่าง 2 ฝ่ายในอนาคตอันใกล้
นายหวาง จื้อหย่ง (Huang Zhi Yong, 黄志勇) รองผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Academy of Social Science, 广西社会科学院) กล่าวว่า ปัจจุบัน ความร่วมมือในภาคธุรกิจท่าเรือและการเดินเรือสมุทรระหว่างกว่างซีกับไต้หวันอยู่ในขั้นล้าหลัง ดังนั้น จึงมีช่องว่างในการพัฒนาอีกมาก
กว่างซีใช้จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง เพื่อดึงดูดนักลงทุนไต้หวันรุกตลาดอาเซียน กล่าวคือ สินค้าจากไต้หวันสามารถใช้ “เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้” เป็นจุดแปรสภาพสินค้า เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบFTA จีน-อาเซียน (การขนส่งวัตถุดิบมาแปรรูปในกว่างซีก่อนส่งไปจำหน่ายยังประเทศสมาชิกอาเซียน”
คุณหวาง เวยตาน (Huang Wei Dan, 黄薇彤) นักธุรกิจชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงด้านธุรกิจโลจิสติกส์ในจีนแผ่นดินใหญ่ให้ข้อมูลว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า จีนแผ่นดินใหญ่เปิดให้ธุรกิจทุนเอกชนสามารถเข้าลงทุนในกิจการท่าเรือได้
คุณหวาง ให้ข้อมูลว่า ปี 53 ตนเองเริ่มสังเกตเห็นว่ากว่างซีเป็นช่องทางรุกอาเซียนที่มีความสะดวกรวดเร็วที่สุดของจีน กอปรกับการเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และการดำเนินข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล (ECFA) ยิ่งสร้างความได้เปรียบให้กับกว่างซี ซึ่งมณฑลอื่นไม่อาจเทียบได้ ตนเองจึงได้ตัดสินใจลงทุนสร้างนิคมโลจิสติกส์และดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น
ปัจจุบัน บริษัทของคุณหวางได้รับอนุมัติให้จัดตั้งนิคมโลจิสติกส์บริเวณด่านพรมแดนสุยโข่ว (Shui kou Border, 水口口岸) และนิคมโลจิสติกส์ในจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนเคอเจี่ย (Ke Jia Border Trade Point, 科甲互市点) ในเมืองฉงจั่วของกว่างซี
จากข้อมูลถึงสิ้นปี 55 พบว่า กว่างซีอนุมัติโครงการลงทุนให้แก่นักลงทุนชาวไต้หวันเป็นจำนวน 1,491 โครงการ มูลค่าการลงทุนตามสัญญา 7,207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินลงทุนจริง 4,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไต้หวันเป็นแหล่งเงินทุนนอกจีนแผ่นดินใหญ่รายใหญ่อันดับสองของกว่างซี รองจากฮ่องกง)
เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนจากไต้หวัน เฉพาะในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีมีนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะสำหรับไต้หวัน จำนวน 6 แห่ง ข้อมูลจากนายหลี่ เหยียนเฉียง (Li Yan Qiang, 李延强) รองผู้อำนวยการสามัญประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (General Office of the Administrative Commission of Guangxi Beibu-Gulf Economic Zone, 广西北部湾经济区管委会办公室)
นายหวาง รองผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมความร่วมมือในภาคธุรกิจท่าเรือและการเดินเรือสมุทรระหว่างกว่างซีกับไต้หวัน ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของไต้หวันในกว่างซี อีกทั้งยังอำนวยประโยชน์ต่อภาคการผลิตโดยรวมของไต้หวันอีกด้วย
นายจาง กงโสง (Zhang Gong Xiong, 张宫熊) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย National Pingtung University of Science and Technology (台湾屏东科技大学) กล่าวว่า กว่างซีเป็นเป้าหมายการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลของนักลงทุนไต้หวัน
ทั้งนี้ แผนธุรกิจของนักลงทุนไต้หวันมีความชัดเจนในแง่ของการแบ่งฐานการผลิตและการทำการตลาด กล่าวคือ นักลงทุนเลือกกว่างซีเป็นฐานการผลิต เพื่ออาศัยโลจิสติกส์ของอ่าวเป่ยปู้เป็นช่องทางขยายตลาดสู่อาเซียน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระยะที่ผ่านมา สื่อในจีนแผ่นดินใหญ่รายงานข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับดึงดูดนักลงทุนจากไต้หวันเข้ามาลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และการเดินเรือสมุทร โดยหวังอาศัยจุดแข็งของไต้หวัน (ด้านประสบการณ์ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และระบบริหารจัดการที่ทันสมัย) มาพัฒนาธุรกิจและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องที่
ดังนั้น หากนักลงทุนไต้หวันอาศัยกว่างซีเป็นฐานแปรรูปสินค้าแล้ว การเข้ามาดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์และการเดินเรือสมุทรจะช่วยบูรณาการห่วงโซ่ธุรกิจให้เกิดความสมบูณร์แบบมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ไต้หวันยืมแรงกว่างซีรุกตลาดอาเซียน (07 มิถุนายน 2556)
– กว่างซีชูยุทธศาสตร์จับวิสาหกิจไต้หวัน เมื่อไหร่ไทยจะมีลุ้น (01 เมษายน 2556)
– กว่างซียืมแรงไต้หวันแก้ปัญหาและพัฒนาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (11 มกราคม 2556)