จับตากระแสท่องเที่ยวไทย ยอดนักท่องเที่ยวจากส่านซีไปไทยพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
18 Apr 2013
เมื่อเดือน มี.ค. 2555 ที่ผ่านมาบีไอซีได้รายงานข้อมูลตลาดการท่องเที่ยวไทยในมณฑลส่านซีจากการสำรวจข้อมูลกับกลุ่มบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ในส่านซี ในปีนี้นับว่ากระแสการท่องเที่ยวไทยยังเเรงดีไม่มีตก จากข้อมูลการสำรวจและเก็บสถิติของสถานกงสุลใหญ ณ นครซีอานขอเรียนข้อมูลพัฒนาการตลาดดังกล่าว ดังนี้
1.ตัวเลขนักท่องเที่ยวส่านซีมาไทยในปี 2555
1.1 ตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2555 (มค.-ธ.ค. 2555)
– มีผู้ขอตรวจลงตราที่สกญ. ณ นครซีอานรวมทั้งสิ้น 25,081 คน
– ร้อยละ 89 (22,309 คน) ของผู้มายื่นขอตรวจลงตราดำเนินการผ่านบริษัทท่องเที่ยว
– นับจำนวนผู้มาขอยื่นตรวจลงตราที่สกญ. ณ นครซีอานในปี 2555 (เทียบเท่าประมาณร้อยละ 0.9ของนักท่องเที่ยวจีนที่เยือนไทยในปี 2555) ทั้งนี้หากเป็นทัวร์กลุ่มเล็กไม่เกิน 30 คน ส่วนใหญ่บริษัทนิยมไปขอ Visa on arrival นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวส่านซี และมีนักท่องเที่ยวจากมณฑลใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่มากนัก
1.2 คาดการตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2556 (มค.-ธ.ค. 2556)
สถิติผู้ขอตรวจลงตราแต่ละปี (ม.ค.-ธ.ค.) ในปี 2012 (25,081 คน) เพิ่มขึ้นเป็น 11 เท่าของเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ( ปี 2007 มี 2,211 คน)หากคำนวณสถิติช่วงรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 106 ของปี 2555 หากอัตราเพิ่มของผู้มาขอรับการตรวจลงตรายังคงอยู่ในอัตรานี้ ก็คาดว่าจะมีผู้มาขอรับการตรวจลงตราระหว่าง ม.ค.-ธ.ค. 2556 ประมาณ 51,666.86 คน และหากคำนวณตามแนวโน้มผู้ขอตรวจลงตราในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 151 ของช่วงเดียวกันในปี 2555 น่าจะมีผู้ขอตรวจลงตราระหว่าง ม.ค. – ธ.ค. 2556 ประมาณ 62,953.31 คน[1]
แนวโน้มจำนวนผู้มาขอยื่นตรวจลงตรา สกญ. ณ นครซีอาน
2.ความนิยมของนักท่องเที่ยวส่านซี
2.1 ช่วงที่นักท่องเที่ยวส่านซีนิยมเดินทางไปประเทศไทยมากที่สุด คือ ธ.ค. –ก.พ.
ช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ขอตรวจลงตราสำหรับเดินทางช่วงหยุดเทศกาลต่างๆ (มี.ค. สำหรับสงกรานต์ และก.ย.สำหรับวันชาติจีน) เพิ่มขึ้นมาก อนึ่ง แนวโน้มการเดินทางไปเที่ยวไทยของชาวส่านซีและมณฑลใกล้เคียง ปรากฏเห็นให้ชัดว่ามีมากขึ้นอย่างชัดเจน (ดังปรากฏในข้อ 1) เนื่องจากปัจจัยหลายประการ อาทิ (1) การเปิดเส้นทางบินตรง (2) ผลพลอยได้จากภาพยนต์ไท่จ่ง (3) กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และผลการการโปรโมทประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยสกญ. ณ นครซีอาน ซึ่งได้ผลักดันกิจกรรมประชาสัมพันธ์ครัวไทย นาฏศิลป์ไทย และสินค้าไทยที่มีศักยภาพมาโดยตลอดตั้งแต่กลางปี 2554 ล่าสุด ในช่วงสามเดือนครึ่งแรกของ 2556 นี้ มีการออกรายการทีวีในพื้นที่แล้ว 5 ครั้ง เป็นรายการด้านอาหาร วัฒนธรรมไทย และศิลปไทยพร้อมยังเห็นได้จากกระแสการเปิดร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 6 ร้าน และกำลังมีการเปิดร้านแห่งใหม่อีกหนึ่งร้าน (โดย 3 ร้านมีพ่อครัวเป็นคนจีน) แล้ว
อนึ่ง ผู้มาขอตรวจลงตราส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านบริษัทท่องเที่ยว(ร้อยละ 86-95 ของผู้ขอยื่นตรวจลงตราทุกประเภท) โดยช่วงที่มีการเดินทางมายื่นตรวจลงตราด้วยตัวเองมากที่สุดคือช่วงปลายปี (พ.ย.-ธ.ค.)
สัดส่วนผู้มาขอตรวจลงตราผ่านบริษัทนำเที่ยวและยื่นด้วยตัวเอง
(เทียบจำนวนผู้มาขอตรวจลงตราทุกประเภท) ม.ค. 2555- มี.ค. 2556
3.การให้บริการเส้นทางบินตรงไปยังไทยและประเทศอาเซียนประเทศอื่นๆ
ปัจจุบันสนามบินนานาชาติเสียนหยางเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศไปยังเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวันในส่วนของเส้นทางบินตรงไปยังประเทศไทยด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชีย(FD)
กทม(ดอนเมือง)-ซีอาน FD2568 16.25 – 21.35
อนึ่ง ปัจจุบันมีไฟลท์เส้นทางบินตรงอื่นๆ ของจีนได้แก่ สายการบิน China Eastern Airlines เส้นทางซีอาน-กทม
ซีอาน-กทม (สุวรรณภูมิ) MU7023 22.25
ซีอาน-กทม (สุวรรณภูมิ) MU1047 16.00 (แวะรับผู้โดยสารที่สนามบินนานาชาติผู่ตง)
และเส้่นทาง กทม-ซีอาน MU7024(สุวรรณภูมิ) 02.10
นอกจากนี้ แผนการเปิดเส้นทางบินตรงซีอาน-กัวลาลัมเปอร์โดยแอร์เอเชีย รายงานข่าวของสนง.การท่องเที่ยวซีอาน เมื่อปลายมี.ค. ศกนี้ ได้แจ้งว่า จะมีการเปิดเส้นทางบินตรงดังกล่าวในเดือน ส.ค. ปีนี้พร้อมกันนี้สถานกงสุลใหญ่ฯได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ประจำสนามบินของสายการบินแอร์เอเชียว่า ขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาการเปิดเส้นทางบินไปมาเลเซียในปีนี้ (การเดินทางไปมาเลเซียผู้ถือหนังสือเดินทางจีนจะต้องขอตรวจลงตราก่อนเข้ามาเลเซีย และปัจจุบันมาเลเซียไม่มีสถานกงสุลในนครซีอาน[2] อนึ่ง ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางไปประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์โดยด้วยส่วนใหญ่เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว)
บทส่งท้าย
4.1 ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีบทบาทที่สำคัญต่อตลาดท่องเที่ยวไทย
นอกเหนือจากที่เป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไทยมากที่สุด (ในปี 2554 และ 2555) แล้ว นอกจากนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติรายงานว่าเมื่อปี 2554 นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก สร้างสถิติการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศ 102,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2554[3]
อนึ่ง แม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวส่านซีมาไทย (เมือพิจารณาจากจำนวนผู้ขอตรวจลงตราที่สกญ.) จะมีขนาดเท่ากับเพียงร้อยละ 0.9 ของนักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทย แต่สามารถประเมินได้ว่า ตลาดดังกล่าวกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวส่านซีส่วนใหญ่ประทับใจในการเยือนประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทนำเที่ยวต่างๆ จัดหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้เยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2-3
และเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ต่อไปอาจมีการจัดทำแพ็คเกจทัวร์ไปมาเลเซียโดยเฉพาะ และเน้นเส้นทางเกาะต่างๆ เป็นแพ็คเกจแข่งขันกับไทยได้ อนี่ง แหล่งท่องเที่ยวไทยที่นิยมที่สกญ. ได้เคยสำรวจ ได้แก่ (1) กรุงเทพ (2) ภูเก็ต (3) พัทยา (4-5) จุดท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่บริษัทต่างๆ กำลังพิจารณาเข้าไปอยู่ระหว่างการหารือ ได้แก่ เส้นทางไปท่าอากาศยาน สมุย สุราษฏร์ธานี กระบี่และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกระแสจากภาพยนตร์เรื่องไท่จ่ง
4.2ตลาดส่านซี อีกหนึ่งตลาดสำคัญที่ไทยไม่ควรมองข้าม !!
ในส่วนของมณฑลส่านซี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ในส่วนของภาคท่องเที่ยวไทยควรรักษาการประชาสัมพันธ์จุดดึงดูดจุดสำคัญต่างๆ อาทิได้แก่
(1) ทะเลไทย ซึ่งสำคัญสำหรับชาวส่านซีที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เมื่อเทียบกับการไปเที่ยวไหหลำแล้วอาจมีราคาไม่แต่กต่างกันเท่าไรนัก
(2) ความหลากหลายของการท่องเที่ยวไทย
(3) ราคาแพคเกจทัวร์เดินทางไปไทย ถูกกว่าการเดินทางไปจุดหมายในต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งมีการบินตรง
(4) นอกจากราคาที่ถูกแล้ว คุณภาพและการบริการที่เป็นเลิศของไทย รวมไปถึงรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีของคนไทยล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนประทับใจและต้องการกลับมาเที่ยวเมืองไทยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทยควรติดตามคือบริการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับมีคุณภาพหรือไม่ หรือการนำลูกค้าไปแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ประการใด นอกจากนี้ อีกประเด็นที่อาจพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมคือ จำนวนลูกค้าบริษัทท่องเที่ยวที่เดินทางกลับไปท่องเที่ยวประเทศไทยซ้ำอีกเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุง แก้ไขเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งๆขึ้นไป
___________________________________
[1] นอกจากนี้เมื่อเทียบตัวเลขผู้ขอตรวจลงตรา 1-12 เม.ย. 2556 พบว่า ตัวเลขสถิติยังยืนยันแนวโน้มว่า จะมีผู้มาขอรับการตรวจลงตราในปี 2556 ด้วยอัตราที่เร็ว(และอาจมากกว่าร้อยละ 151)
[2]มีสำนักงานได้แก่ สอท.ณ กรุงปักกิ่ง สกญ. ณ นครคุนหมิง สกญ.ณ นครเซี่ยงไฮ้ สกญ.ณ นครกว่างโจว และ สกญ.ณ เมืองฮ่องกง
[3]http://media.unwto.org/en/press-release/2013-04-04/china-new-number-one-tourism-source-market-world และ Chinese travelers the world’s biggest spenders (CNN, 2013) at http://edition.cnn.com/2013/04/05/travel/china-tourists-spend