จับชีพจร “อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง” กว่างซี โอกาสของผู้ประกอบการไทย

13 Nov 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี :  กว่างซีกำลังรอคอยการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมการปลูก มันสำปะหลัง โดยมุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ด้วยการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-Added)

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา (พ.ศ.2533) กว่างซีได้เริ่มก้าวขึ้นเป็นมณฑลพี่ใหญ่ด้านการผลิตมันสำปะหลังของประเทศจีน ทั้งในแง่พื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิต

ในบรรดาพืชเศรษฐกิจทั้งหมด กว่างซีมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากเป็นอันดับสองรองจากพื้นที่ปลูกอ้อย

ปี 2555 กว่างซีมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 3.425 ล้านหมู่จีน (ราว ๆ 1.42 ล้านไร่) มีปริมาณผลผลิต 5.025 ล้านตัน

ปีนี้ (ปี 2556) เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย พื้นที่ปลูก 3.403 ล้านหมู่จีน (ประมาณ 1.41 ล้านไร่) ได้ผลผลิตมันปะหลังสด 5 ล้านตัน

นางเหวิน ยวี่ ผิง (Wen Yu Ping, 文玉萍) เลขานุการสมาคมธุรกิจมันสำปะหลังกว่างซี ให้ข้อมูลว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่นอกจากจะใช้รับประทานสดแล้ว ยังถูกใช้เพื่อการแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์และแป้งสตาร์ช เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ยา เชื้อเพลิงพลังงาน กระดาษ และสิ่งทอ

มันสำปะหลังกว่าครึ่งหนึ่งที่กว่างซีผลิตได้จะถูกนำไปแปรรูปเป็นแป้งสตาร์ช เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (แป้งโมดิฟายด์สตาร์ชและวัตถุปรุงแต่งอาหาร)

แม้ว่ากว่างซีจะมีวิสาหกิจด้านการแปรรูปมันสำปะหลังอยู่จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มีขนาดกิจการค่อนข้างเล็ก และอยู่กระจัดกระจาย ทำให้การผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวทำได้ค่อนข้างยาก

อีกทั้ง ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยังขาดความสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมณฑลกวางตุ้งและมณฑลเจ้อเจียงแล้ว อุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารนับเป็น จุดอ่อน ของกว่างซี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของจำนวนหรือขนาดของวิสาหกิจก็ตาม

ปัจจุบัน กว่างซีจึงสวมบทเป็นได้เพียง ผู้สนับสนุน วัตถุดิบขั้นต้น (ที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ) เท่านั้น

บุคคลในแวดวงธุรกิจมันสำปะหลังรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน วิสาหกิจแปรรูปมันสำปะหลังในกว่างซีต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเวียดนามและไทย (จุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนเมืองตงซิงมีการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากเวียดนามจำนวนมากในแต่ละวัน โดยใช้สิทธิประโยชน์การค้าสำหรับชาวชายแดน และใช้วิธีการขนส่งผ่านทางเรือข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน)

เนื่องจากการปลูกมันสำปะหลังได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ขาดแรงจูงใจในการปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 1 หมู่จีนได้ผลผลิตราว ๆ 2 ตัน    ราคาขายตกตันละประมาณ 600 หยวน หักค่าต้นทุนจิปาถะแล้ว (ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย) เกษตรกรได้เงินเข้ากระเป๋าเบ็ดเสร็จไม่ถึงหนึ่งพันหยวนต่อหมู่จีนเสียด้วยซ้ำ

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบรรดาสินค้าเกษตรนำเข้าจากประเทศไทย กว่างซีมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังมากเป็นอันดับหนึ่งหลายปีติดต่อกัน อาทิ มันสำปะหลังแห้ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง รวมถึงเดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ชอื่น ๆ

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน