จับจุดช่วงเทศกาล!!! โอกาสทองของผลไม้ไทยในตลาดกว่างซี
18 Sep 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ช่วงหน้าเทศกาลในจีนแผ่นดินใหญ่ถือเป็นช่วงที่ผลไม้มียอดจำหน่ายสูงสุด ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และวันชาติจีนที่กำลังมาถึงนับเป็นอีก “ช่วงเวลาทอง” ของผู้ค้าผลไม้ในกว่างซี
ความต้องการบริโภคผลไม้ของชาวกว่างซีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงหน้าเทศกาลต่าง ๆ
ในนครหนานหนิง พบว่า ตลาดค้าปลีกค้าส่งผลไม้ทั่วนครหนานหนิงต่างเตรียมพร้อมผลไม้จำนวนมากไว้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแล้ว
จากการสำรวจตลาดค้าส่งผลไม้รายใหญ่ในนครหนานหนิง “ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าเกษตรระหว่างประเทศไฮพีเรียนกว่างซี” (Guangxi Hyperion International Agricultural Logistic Center, 广西海吉星农产品国际物流中心) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ตลาดไฮพีเรียน” พบว่า บรรยากาศมีความคึกคักอย่างมาก
นอกจากรถบรรทุกของพ่อค้าแล้ว ยังสามาารถพบเห็นรถยนต์ส่วนบุคคล และรถยนต์จากต่างถิ่นจำนวนมากผ่านเข้าออกตลาดแห่งนี้
ชนิดของผลไม้ที่จำหน่ายมีความหลากหลาย อาทิ ทุเรียนและมังคุดไทย องุ่นอเมริกา เชอร์รี่แคนาดา แอปเปิ้ลนิวซีแลนด์ พุทราซานตง สาลี่หอมซินเจียง ส้มโอฝูเจี้ยน พีชกุ้ยหลิน ทับทิมยูนนาน กีวีเสฉวน เป็นต้น
Mr.Qu (屈先生) พ่อค้ารายใหญ่ในตลาดไฮพีเรียน ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ ลูกค้ารายย่อย (ส่วนบุคคล) มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ลูกค้าที่ซื้อในนามบริษัทหรือองค์กรมีจำนวนค่อนข้างน้อย (เหตุผลน่าจะมาจากนโยบาย “รัดเข็มขัด” ของรัฐบาลกลาง)
ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ มียอดซื้อขายผลไม้ในตลาดไฮพีเรียนเพียงวันเดียว (วันที่ 16 ก.ย.56) ประมาณ 6,500 ตัน เพิ่มขึ้นมากกว่าวันปกติ 3 เท่าตัว
Ms.Wan Ying Zhi (万莹知) หัวหน้าห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในตลาดไฮพีเรียน ให้ข้อมูลว่า เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับระบบบริหารจัดการในตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลาดมุ่งเป้าเพิ่มความหลากหลายของชนิดผลไม้ เพื่อสร้างตัวเลือกให้กับผู้บริโภค พร้อมกับติดต่อแหล่งผลิตเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีผลไม้เพียงพอสำหรับความต้องการในตลาด
อีกด้านหนึ่ง ตลาดมีการส่งเจ้าหน้าที่สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าเกษตรที่ผ่านเข้ามาในตลาดต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภค
ผู้ค้าผลไม้อาเซียนในตลาดไฮพีเรียน ให้ข้อมูลว่า ในอดีต ผลไม้นำเข้าจากอาเซียนที่จำหน่ายในนครหนานหนิงจะต้องไปซื้อต่อมาจากนครกว่างโจวของมณฑลกวางตุ้ง ใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน (ผลไม้ขาดความสดใหม่)
ทว่าในปัจจุบัน การจัดซื้อผลไม้จากอาเซียนทำได้ง่ายมากขึ้น เพียงตั้งจุดรับซื้อในประเทศอาเซียนก่อนส่งเข้ามายังกว่างซี
ยกตัวอย่างเช่น มังคุดของไทยมีการขนส่งทางบกผ่านเส้นทาง R ต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ด่านในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง ใช้เวลาเพียง 3 วันก็สามารถเข้าสู่ตลาดในนครหนานหนิงได้แล้ว
นอกจากผลไม้จะยังคงความสดใหม่แล้ว ยังเป็นการประหยัดต้นทุน แถมผู้บริโภคยังมีโอกาสสามารถรับประทานผลไม้อาเซียนในราคาที่ย่อมเยาว์อีกด้วย
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงสร้างการค้าในตลาดผลไม้นำเข้าของกว่างซีเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากวิถีการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่้ต้องพึ่งพาพ่อค้าในตลาดเก่าในนครกว่างโจว (ตลาดเจียงหนาน) มาเป็นการทำธุรกิจนำเข้าผลไม้ด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชาวสวนและผู้ส่งออกชาวไทยในการรุกขยายตลาดผลไม้ไทยในมณฑลหรือหัวเมืองชั้นรอง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้ค้าชาวไทยสามารถจับจุดคำว่า “หน้าเทศกาล” ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการเพิ่มสูงจากช่วงเวลาปกติเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการขยายปริมาณส่งออกและโกยเงินเข้ากระเป๋าได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน