คู่ปรับมะม่วงไทย เมืองไป่เซ่อของกว่างซีดันแบรนด์มะม่วง รุกตลาดจีนตอนเหนือ ออร์เดอร์ล้นทะลัก
10 Jul 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : เทศบาลเมืองไป่เซ่อสร้างแบรนด์ “มะม่วงจีน” ขยายตลาดสู่พื้นที่ตอนเหนือของประเทศ เน้นตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยต้องระวัง เรียนรู้และปรับตัว
เมืองไป่เซ่อ (Baise City, 百色市) ตั้งอยุ่ทางทิศตะวันตกของกว่างซีติดมณฑลยูนนาน นอกจากเป็นหนึ่งในฐานการผลิตแร่โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (อลูมิเนียม) แล้ว ยังมีชื่อเสียงภาคการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกมะม่วง
ชาวสวนมะม่วงในเมืองไป่เซ่อมีการปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์ ช่วงนี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวมะม่วงของเมืองไป่เซ่อ ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมาก
ในอดีต สินค้าเกษตรจำนวนมากมักประสบปัญหา “ขาดช่องทางการจัดจำหน่าย” ส่งผลให้สินค้าเกษตรดังกล่าวต้องจำหน่ายในราคาถูก (ผลิตภัณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกร) ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือนร้อน
ครั้นจะเลือกส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ขาดอำนาจต่อรอง เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีตัวเลือกจำนวนมาก ทำให้ห้างร้านเหล่านี้มีโอกาสเลือก “สินค้าที่ดีที่สุด” มาวางจำหน่ายในร้านคนของตน
เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น เทศบาลเมืองไป่เซ่อได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยพัฒนาในเรื่องของคุณภาพ การสร้างแบรนด์ และการบุกเบิกช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านกิจกรรม “จับคู่เกษตรกรกับซุปเปอร์มาร์เก็ต” ทำให้ปัจจุบัน มะม่วงเมืองไป่เซ่อได้เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ถูกเลือก” เป็น “ผู้เลือกตลาด” แทน
นอกจากนี้ เมืองไป๋เซ่อมุ่งพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยของผลผลิตมะม่วงตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก รวมทั้งการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ทางการเมืองไป่เซ่อได้ทยอยเดินทางจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์มะม่วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจีน ไม่ว่าจะไปที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครอิ๋นชวน และนครฮาร์บิน ทำให้มะม่วงของเมืองไป่เซ่อมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศจีน
ปัจจุบัน มะม่วงเมืองไป่เซ่อได้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของซุปเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศจีน ซูเปอร์มาเก็ตหลายแห่งเปิด Green Lane (ให้สิทธิพิเศษ) ให้กับมะม่วงจากเมืองไป่เซ่อ เช่นการยกเว้นค่าสินค้าเข้าห้าง และข้อเสนอพิเศษอื่น ๆ มากมาย
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจสวนมะม่วงในเมืองไป่เซ่อพบเห็นภาพการแย่งซื้อมะม่วงของพ่อค้าสวนมะม่วงขนาดใหญ่ (พื้นที่ปลูกมากกว่า 50 หมู่จีน หรือราว 21 ไร่) มีพ่อค้าไม่น้อยกว่า 10 บริษัทเดินทางมาติดต่อขอซื้อถึงหน้าสวน โดยหวังให้สวนมะม่วงเซ็นสัญญาเป็นซัพพลายเออร์สินค้าให้กับตนเอง และเน้นย้ำว่าราคาไม่ใช่ปัญหา
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “มะม่วง” เป็นผลไม้ไทยจากทั้งหมด 23 ชนิดที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศไทย โดยผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ชมพู่ทับทิมจันทร์ (ซึ่งตอนนี้ทางการจีนต้องสั่งระงับการนำเข้าชั่วคราวจากปัญหาโรคแมลง) มะม่วงน้ำดอกไม้ และเงาะ
แม้ว่าปัจจุบัน รสชาติและคุณภาพผลไม้ไทยยังคงได้รับความเชื่อถือในสายตาผู้บริโภคชาวจีน ทว่า ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งหาทางป้องกันรับมือปัญหาการปลูกผลไม้ทับซ้อนอย่างในกรณี “มะม่วง”ของเมืองไป่เซ่อ ซึ่งอาจจะส่งผลให้สัดส่วนทางการตลาดของผลไม้ไทยลดลงและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกผลไม้มากยังประเทศจีนได้ในอนาคต