คาดจีนยังต้องพึ่งน้ำตาลต่างประเทศ เหตจากต้นทุนการผลิตในประเทศพุ่ง
28 Mar 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : แม้ปริมาณน้ำตาลนำเข้าจีนเดือน ก.พ.จะลดฮวบจากเดือนก่อนหน้า แต่คาดว่าสถานการณ์จะไม่ยื้ดเยื้อ เนื่องจากต้นทุนยังคงเป็นปัจจัยกระตุ้นการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ
ตามรายงาน เดือน ก.พ.56 จีนมีการนำเข้าน้ำตาลเพียง 8 หมื่นตัน ลดลงจากเดือน ม.ค. ที่มีการนำเข้ามากถึง 2.43 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข่าวที่ว่ารัฐบาลกลางพร้อมดำเนินมาตรการเก็บสำรองน้ำตาล
อย่างไรก็ดี บุคคลในแวดวงน้ำตาล เห็นว่า สถานการณ์นำเข้าจะกลับฟื้นตัวอีกในอนาคตอันใกล้ หรือหากลดลงอาจเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศ (ตันละ 5,500 หยวน) มีราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลโควต้านำเข้าอยู่ตันละ 800 หยวน ส่วนต่างกำไรดังกล่าวทำให้วิสาหกิจนำเข้าน้ำตาลขยายปริมาณนำเข้า
ส่วนในเรื่องการดำเนินมาตรการเก็บสำรองน้ำตาลคงมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำตาลคงคลังยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก (ขาดแคลนพื้นที่เก็บสำรอง) น้ำตาลเก่ายังไม่ถูกปล่อยออก ทำให้ไม่สามารถเก็บสำรองน้ำตาลใหม่ได้
สำหรับสถานการณ์ในเขตฯ กว่างซีจ้วง “แหล่งผลิตน้ำตาล” ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ (ปริมาณผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ) กำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น
กล่าวคือ ในฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ อุตสาหกรรมการผลิตอ้อยต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงขึ้น เพราะกว่างซียังมีอัตราการใช้เครื่องจักรในภาคการผลิตอ้อยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คิดเป็นเพียงร้อยละ 43.2 เท่านั้น
ยกตัวอย่างในอำเภอฝูสุย (Fusui County, 扶绥县) ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยรายใหญ่ของกว่างซี ค่าแรงตัดอ้อยเพิ่มขึ้นจากตันละ 120 หยวนเป็น 160 หยวน ถึงกระนั้นแล้วยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานได้
กอปรกับในช่วงที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคารับซื้ออ้อยถูกกดต่ำลงลง กล่าวคือ กรมควบคุมราคาสินค้าเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ประกาศราคารับซื้ออ้อยงวดแรก ประจำฤดูกาลผลิตปี 55/56 อยู่ที่ตันละ 475 หยวน ซึ่งต่ำกว่าฤดูกาลผลิตก่อน ซึ่งอยู่ที่ตันละ 500 หยวน
แม้คาดการณ์ว่า ฤดูกาลผลิตนี้ กว่างซีจะมีปริมาณอ้อยมากกว่า 75 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 8 ล้านตัน ทว่า สถานการณ์ข้างต้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาอ้อยและน้ำตาลของกว่างซี (จีน)ขาดความสามารถทางการแข่งขัน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จีนใช้ระบบโควต้าจำกัดการนำเข้า โดยภาษีนำเข้าน้ำตาลในโควต้าจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 (โควต้านำเข้า 1.945 ล้านตัน) และน้ำตาลนอกโควต้าจัดเก็บในอัตราร้อยละ 50
แม้ว่า ความผันผวนของตลาดน้ำตาลภายในประเทศจีนจะนำมาซึ่ง “โอกาส” สำหรับผู้ประกอบการผลิตในต่างประเทศ ทว่า ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าทางการจีนจะดำเนินมาตรการอะไรไป นอกจากระบบโควต้า เพื่อลดแรงกดดัน ตลอดจนคุ้มครองและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดนัำตาลในประเทศ
ทั้งนี้ BIC จะติดตามรายงานความเคลื่อนไหวในโอกาสต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– พาณิชย์จีนพร้อมอุ้มน้ำตาลจีน กว่างซีรับอานิสงส์ (8 มีนาคม 2556)
– ราคากลางราคารับซื้ออ้อยประจำฤดูกาล 55/56 ลดลงเล็กน้อย นักวิเคราะห์เชื่อจีนไม่นำเข้าน้ำตาลมากในปีนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2556)
– อากาศหนาวทำพิษ!! ปริมาณการผลิตน้ำตาลกว่างซีร่วงลง 5% (16 มกราคม 2556)