ข้อคิดดีมีประโยชน์จากผู้บริหารหนุ่มแห่งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน
3 May 2013ด้วยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2556 บีไอซี เซี่ยเหมิน ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาชักจูงการลงทุนในหัวข้อ “Thailand Investment Opportunities” โดยงานดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครกว่างโจว ร่วมกับกรมการค้าประจำมณฑลเจียงซีเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ นครหนานชาง มณฑลเจียงซี โดยหนึ่งในวิทยากรคนสำคัญของงานดังกล่าว คือ ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง คุณอู๋ ก่วง หยุน รองประธานบริษัท ฮอลลี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) และ บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด บีไอซีวันนี้จึงนำประสบการณ์ความสำเร็จในการลงทุนในไทยและข้อคิดดี ๆ ที่ผู้สนใจจะทำธุรกิจที่จีนควรรู้มาแบ่งปันกับผู้อ่าน

BIC: ช่วยแนะนำบริษัท ฮอลลี่ กรุ๊ป โดยคร่าว ๆ
คุณอู๋: บริษัท ฮอลลี่ มีความชำนาญด้านการผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า Holley Meter Single-phase 5 (15)A15 (45)A 30 (100)A meter three-phase CT 5A 15(45) A 30(100)A ที่ผ่านการรับรองจากการไฟฟ้าประเทศไทย และได้รับรองมาตรฐาน มอก. ทั้งนี้ บริษัท ฮอลลี่ กรุ๊ป เป็นบริษัทผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี ในประเทศจีน โดยการค้นคว้าและวิจัย นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต มีสาขาสำนักงานในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย อาเจนติน่า ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย เป็นต้น
BIC: สำหรับบริษัทไทย เข้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่และทำอะไรบ้างครับ
คุณอู๋: สำหรับที่ไทย บริษัทฮอลลี่ กรุ๊ป เราได้เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2543 โดยเป้าหมายหลัก คือ การให้บริษัทที่ไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญในการผลิตและกระจายสินค้าในอาเซียน ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่จังหวัดชลบุรี สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถกินส่วนแบ่งตลาดมิเตอร์ไฟฟ้าของไทยถึงร้อยละ 25 แต่สำหรับอีกธุรกิจที่ดูแลคือ บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัท ฮอลลี่ กรุ๊ป และบริษัทในเครืออมตะ มุ่งพัฒนาที่ดิน สร้างนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่ครอบคลุมด้านการผลิต การเก็บรักษา การกระจายและขนส่งสินค้าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดระยอง ดังนั้น นักธุรกิจจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยก็จะสามารถอยู่รวมตัวกันได้ ทำงานและใช้ชีวิตโดยไม่มีอุปสรรคในการสื่อสาร
BIC: เพราะเหตุใดจึงเลือกลงทุนที่ไทยครับ
คุณอู๋: ในบรรดาประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถือได้ว่ามีข้อได้เปรียบหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์ทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของภูมิภาค ดังนั้น การพิจารณาตั้งโรงงานที่นี่จึงคุ้มค่าอย่างมาก ทั้งนี้ ไทยยังมีจุดแข็งอยู่มากที่ได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้แก่
- ไทยมีตลาดขนาดใหญ่และมีความสามารถในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
- มีระบบสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์แบบ เช่น เส้นทางหลวงและท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่
- นโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจากทางภาครัฐมีจำนวนมาก ที่ให้ประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิต
- ลักษณะนิสัยของคนไทยเป็นคนจิตใจดีและมีความรู้ความสามารถในการทำงาน
- แม้ว่าในช่วงหลายปีก่อนจะมีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง มีการเดินขบวนต่าง ๆ แต่ในระยะหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว โดยรวมยังถือว่า สภาพการเมืองและสังคมไทยมีเสถียรภาพ ปลอดภัยและมีการปกครองภายใต้กฎหมาย
- ความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยและจีน มีการเยือนระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่ายเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้ล้วนเป็นเครื่องช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและยาว
แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจีนที่สนใจมาลงทุนในไทยต้องให้ความสำคัญในการติดตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน การสำรวจความต้องการของตลาด การควบคุมและลดต้นทุน การตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือของคู่ค้า และที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของไทย
BIC: อยากฝากอะไรกับคนไทยที่ต้องการมาทำธุรกิจในจีน
คุณอู๋: ปัจจุบันเมื่อพูดจีน ทุกคนจากทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นักธุรกิจต่างก็อยากเข้ามาทำการค้า การลงทุนด้วย เพราะต่างมองเห็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่า 1,300 ล้านคน จึงอยากเตือนผู้ที่สนใจว่า อย่ามองแต่ด้านดีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาแล้วจะประสบผลสำเร็จทุกคน มีจำนวนไม่น้อยที่พลาดพลั้ง ไม่ได้ทำการบ้าน ไม่มีการสำรวจตลาดก่อนที่จะมาเจาะตลาดชาวจีน ขาดทุนกลับบ้านไปก็ไม่น้อย และที่สำคัญ ยังต้องหาข้อมูลในการทำการค้าให้ดี เพราะที่จีนมีมิจฉาชีพอยู่ไม่น้อย ถ้าขาดความระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อในการทำธุรกิจได้ ในส่วนอื่นที่อยากจะแนะนำ คือ การทำธุรกิจกับคนจีนจะต้องเรียนรู้ขนบธรรมเนียมของจีน ในภาษาจีนมักพูดเสมอว่า “入乡随俗” หรือ การประพฤติปฏิบัติให้เข้ากับธรรมเนียมของท้องถิ่นนั้น ตัวผมเองทำธุรกิจในไทยก็ยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เพราะจะนำธรรมเนียมหรือวิธีปฏิบัติของคนประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศไม่ได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
- การสัมภาษณ์คุณอู๋ ก่วง หยุน รองประธานบริษัท ฮอลลี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) และบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด
- http://www.holley.co.th
- http://www.sinothaizone.com