การลงทุนใน “นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย” เมืองฉงจั่ว เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

5 Apr 2018

          จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งและทรัพยากรในท้องถิ่นของ “นิคมอุตสาหกรรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทย” เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้วิสาหกิจชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศทยอยเข้าลงทุนตั้งโรงงานผลิต และใช้นิคมแห่งนี้เป็นแพลทฟอร์มบุกเบิกตลาดอาเซียน

          สำนักข่าวจีน (China News/中国新闻社) จัดกิจกรรม “ยุคสมัยใหม่ ความเคลื่อนไหวใหม่ – สื่อมวลชนภาษาจีนในต่างประเทศโฟกัสกว่างซี” ระหว่างวันที่ 24-29 มีนาคม 2561 โดยเชิญตัวแทนสื่อมวลชนภาษาจีน  38 แห่งจากอาเซียน รวมทั้งเขตเศรษฐกิจฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน เข้าเยี่ยมชม “นิคมอุตสาหกรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทย” ณ เมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง

เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City/崇左市) เป็นเมืองการค้าชายแดนขนาดใหญ่ของจีน (ติดกับเวียดนาม) เป็นที่ตั้งของ “นิคมอุตสาหกรรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทย” (พื้นที่ตามแผนงาน 100 ตร.กม.) ซึ่งเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่กว่างซีให้ความสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศกับอาเซียน

นิคมแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพียง 240 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) ร้อยกว่ากิโลเมตร จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งจึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานในนิคมแห่งนี้

นายกาน อี้หราน (Gan Yiran/甘毅然) รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทย เผยว่า การเป็น “ขุมทอง” ของนิคมอุตสาหกรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทยในสายตานักลงทุนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน วิสาหกิจที่มีชื่อเสียงจากทั้งในและต่างประเทศได้ทยอยเข้ามาลงทุนจัดตั้งกิจการในนิคมฯ แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมิตรผลจากประเทศไทย / เครือบริษัท FOSTER ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงจากญี่ปุ่น / เครือบริษัท Eramet ผู้ผลิตแร่และอัลลอยด์จากฝรั่งเศส / กลุ่มบริษัท COFCO ของจีน / บริษัท Aluminum Corp. of China ผู้ผลิตแร่อลูมิเนียมรายใหญ่ของจีน / บริษัท CITIC Dameng Mining ผู้ผลิตแร่แมงกานีสรายใหญ่ของจีน / บริษัท South Cement ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของจีน และบริษัท Angel Yeast ผู้ผลิตยีสต์รายใหญ่

โดยเมื่อปี 2559 บริษัท Guangxi Geeya Technology เข้ามาตั้งโรงงานยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมฯ มีการส่งออกปีละ 1.5 แสนคัน ตลาดส่งออกสำคัญอยู่ในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป. ลาว

นายฟาง เจี๋ย (Fang Jie/方杰) ประธานกรรมการบริษัท Guangxi Geeya Technology  ให้ความเห็นว่า ธุรกิจอินเตอร์เทรดที่ลงทุนตั้งโรงงานในนิคมฯ สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างมาก เมืองฉงจั่วจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่บริษัทใช้เพื่อเจาะตลาดอาเซียน

สวนอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ Jinwutong เป็นอีกหนึ่งโซนของนิคมฯ ที่มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าจำนวนมาก มีการลงทุนหลายร้อยล้านหยวน เริ่มทดลองการผลิตเมื่อเดือนตุลาคม 2560 มีพื้นที่ 330 หมู่จีน (ราว 137.5 ไร่) มีโรงงานแปรรูปเมล็ดถั่วเปลือกแข็งตั้งอยู่แล้ว 11 ราย ถือเป็นหนึ่งในแหล่งแปรรูปถั่วเปลือกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน

นายหลี่ หลุน (Li Lun/) ผู้จัดการใหญ่ของสวนอุตสาหกรรม Jinwutong เปิดเผยว่า บริษัทฯ กำลังวางแผนดึงดูดธุรกิจที่เป็นแพลทฟอร์มการบริการสมัยใหม่ในสวนอุตสาหกรรม อาทิ การเงิน การวิจัย เพื่อพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เช่น การค้า การผลิต การขาย และการเงิน เพื่อพัฒนาให้สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นฐานการแปรรูปผลิตภัณฑ์ถั่วเปลือกแข็งและผลไม้อบแห้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีชนิดสินค้าครบครันมากที่สุดในอาเซียน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิสาหกิจในนิคมฯ  ทางนิคมฯ ให้การสนับสนุนด้านนโยบายพิเศษแบบ one by one (สิทธิประโยชน์รายโครงการ) พร้อมนำมาตรการลดภาษีและการให้เงินรางวัล/เงินอุดหนุนสำหรับโครงการอุตสาหกรรมสำคัญที่มีศักยภาพในการพัฒนา เช่น น้ำตาลอ้อยแบบครบวงจร แบตเตอรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่โดดเด่นจากอาเซียน (แปรรูปถั่วเปลือกแข็ง) วัสดุสมัยใหม่

      นายกานฯ  รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิคมฯ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมจีน (ฉงจั่ว) – ไทย มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร และบริษัทสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด[*] เป็นนิคมอุตสาหกรรมพี่น้อง

      ในอนาคต นิคมฯ มุ่งพัฒนาโครงการลงทุน/ฐานอุตสาหกรรม 6 สาขา ได้แก่ อาหาร พลังงานทางเลือก วัสดุสมัยใหม่ น้ำตาลครบวงจร เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน และการท่องเที่ยวบริการสไตล์ไทย

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

[*] พิธีลงนามจัดขึ้นในงานสัมมนา “เจาะลึกโอกาส เมืองฉงจั่ว ประตูสู่อาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road” ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560

 

จัดทำโดย นางสาวพรพิมล รองชูเพ็ง  นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยทักษิณ

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2561

        เว็บไซต์
www.ztczcyy.gov.cn  (中国泰国崇左产业园)

นิคมอุตสาหกรรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทยนิคมอุตสาหกรรรมจีน-ไทย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน