การลงทุนระหว่างจีน – อาเซียนทะลุหลักพันล้านหยวน
8 Feb 2013เมื่อวันที่ 5 นายสวี่ หนิงหนิง รองเลขาธิการประจำสภาธุรกิจจีน-อาเซียนกล่าวว่า จนถึงปลายปี 2555 มูลค่าสะสมของการลงทุนระหว่างจีน – อาเซียนเท่ากับ 100,700 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าการลงทุนของจีนในอาเซียนร้อยละ 23.4 และที่เหลือร้อยละ 76.6 เป็นมูลค่าการลงทุนสะสมของกลุ่มสมาชิกอาเซียนในจีน นอกจากนี้ พบว่า การลงทุนของจีนในอาเซียนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าการลงทุนของอาเซียนในจีนอย่างเห็นได้ชัด
นายสวี่ หนิงหนิงกล่าวว่า ในปี 2555 มูลค่าการลงทุนโดยตรงของอาเซียนในจีนอยู่ที่ 7,070 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปี 2554 ขณะที่จีนมีการลงทุนในอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 4,419 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากสถิติดังกล่าวพบว่า ในมูลค่าการลงทุนระหว่างสองฝ่ายที่อยู่ที่ 11,489 ล้านดอลลาร์ สรอ.นั้น ร้อยละ 38.5 เป็นการลงทุนจากจีน
นายสวี่ หนิงหนิงกล่าวเสริมว่า จนถึงปลายปี 2555 การจัดอันดับตามมูลค่าสะสมรวมของการลงทุนโดยตรงของกลุ่มประเทศอาเซียนในจีน เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม พม่า และลาว ขณะที่เฉพาะในปี 2555 ประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนในจีนมากเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (6,300 ล้านดอลลาร์ สรอ.) มาเลเซีย (318 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และบรูไน (151 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และประเทศที่มีอัตราการเติบโตของการลงทุนในจีนสูง 3 อันดับแรกได้แก่ เวียดนาม (เติบโตร้อยละ 145) อินโดนีเซีย (เติบโตร้อยละ 38.4) ฟิลิปปินส์ (เติบโตร้อยละ 18.2)
ในทางกลับกัน หากจัดอันดับตามมูลค่าการลงทุนสะสม กลุ่มประเทศที่ได้รับเงินลงทุนจากจีนจากมากไปน้อย ได้แก่ สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และเฉพาะในปี 2555 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีเงินทุนจากจีนไหลเข้ามาก 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ กัมพูชา และลาว และหากเรียงอันดับตามอัตราการเติบโตของการลงทุนจากจีน ประเทศ 3 อันดับแรกที่มีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ เวียดนาม (เติบโตร้อยละ 147.3) กัมพูชา (เติบโตร้อยละ 131) และลาว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.8) มีเพียงประเทศบรูไน (ลดลงร้อยละ 69.2) และพม่า (ลดลงร้อยละ 58.7) ที่ได้รับเงินทุนจากจีนลดลง
นายสวี่ หนิงหนิงวิเคราะห์ว่า การที่การลงทุนของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปัจจัย 5 ประการหลักดังนี้ 1) จีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นประเทศเพื่อนบ้าน สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการค้าเศรษฐกิจ 2) เศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวช้า และมีการสร้างข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าบางประเภท บริษัทจีนจึงหันมาใช้วิธีผลิตสินค้าในไทยและส่งออกไปต่างประเทศเนื่องจากไม่มีข้อจัดกัดในการส่งออก 3) ประเทศในอาเซียนมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ สามารถตอบสนองความต้องการด้านวัตถุดิบในการผลิตของบริษัทจีน 4)บริษัทจีนมีความสามารถเพิ่มขึ้นในไปลงทุนในต่างประเทศ 5) ประเทศอาเซียนพยายามดึงดูดบริษัทจีนเข้าไปลงทุนในประเทศตน
สุดท้าย นายสวี่ หนิงหนิงเสนอว่า ในการก้าวออกไปลงทุนในอาเซียน บริษัทจีนควรเพิ่มการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรมองข้ามธุรกิจการแปรรูป นอกจากนี้ ก่อนดำเนินการลงทุนก็ควรให้หน่วยงานที่น่าเชื่อถือช่วยทำการวิจัยสำรวจตลาด ตลอดจนควรให้ความสำคัญในการเลือกหุ้นส่วนอีกด้วย