การพัฒนาระบบชลประทานสีเขียวและคาร์บอนต่ำในหมู่บ้าน Zhong He ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสูงของนครฉงชิ่ง

10 Jan 2025

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๘  สำนักข่าวเผยว่า นครฉงชิ่งมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบชลประทานสีเขียวและคาร์บอนต่ำในหมู่บ้าน Zhong He เขตพัฒนาเศรษฐกิจสูงของนครฉงชิ่ง ซึ่งอ่างเก็บน้ำ Leng Jia He เป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขา แต่พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านกลับตั้งอยู่ที่สูงกว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ กว่า ๑๐๐ เมตร ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำได้โดยตรง ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลาหลายปี

นายเหลียว กุ่ยหยุน ผู้นำหมู่บ้าน Zhong He กล่าวว่าการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมีการดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปยังพื้นที่สูง แต่การใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบดั้งเดิมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงเกินไป ดังนั้นหมู่บ้านจึงได้ริเริ่มการพัฒนาโครงการชลประทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการติดตั้งระบบท่อชลประทานทั้งสองข้างของอ่างเก็บน้ำ Leng Jia He โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนการดึงน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง

โครงการนี้ใช้เทคโนโลยี “ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ”[๑] ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถใช้ไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และยังสามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เหลือไปยังเครือข่ายไฟฟ้า โครงการนี้เริ่ม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและมีการจัดสรรงบประมาณพิเศษกว่า ๒.๕ ล้านหยวน (๓๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ)

โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ และเริ่มใช้งานได้จริง ซึ่งทำให้การชลประทานในพื้นที่เกษตรกรรมกว่า ๒,๐๐๐ ไร่ ได้ใช้สอยน้ำอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ระบบยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเกษตรและยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการขายไฟฟ้าส่วนเกินอีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ นางหลี จึหลิน หนึ่งในชาวบ้านที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ได้เริ่มต้นธุรกิจเกษตรในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร โดยใช้ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ + จัดการน้ำและปุ๋ยในระบบเดียวกัน[๒] ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนในการผลิตยังช่วยเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเกษตร และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมทั้งเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวโดยไม่เพียงแต่ช่วยให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ     สำหรับการเกษตร แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในชุมชน

จากโครงการพัฒนาระบบชลประทานสีเขียวและคาร์บอนต่ำในหมู่บ้าน Zhong He เขตพัฒนาเศรษฐกิจสูงของนครฉงชิ่ง เป็นต้นแบบที่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศสูงชันและการเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีจำกัด การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับระบบชลประทาน ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โครงการนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการเทคโนโลยี เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และการจัดการน้ำและปุ๋ยในระบบเดียวกันซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนสำหรับเกษตรกร

สำหรับประเทศไทย โครงการลักษณะนี้สามารถนำมาใช้ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน นอกจากนี้ แนวคิดการขายพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกลับเข้าสู่ระบบสามารถช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน และเกษตรกรไทยยังสามารถปรับปรุงการจัดการเกษตรในรูปแบบกลุ่มเกษตรกรเช่นเดียวกับกรณีตัวอย่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนานี้ยังช่วยส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการใช้พลังงาน การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน


[๑] “ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งไฟฟ้าส่วนเกินขึ้นระบบ” คือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าโดยตรง ส่วนการส่งไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ คือการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินจากการใช้ภายในบ้านหรือสถานที่นั้น ๆ ส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในที่อื่นได้

[๒] การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ + จัดการน้ำและปุ๋ยในระบบเดียวกัน หมายถึง การใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเทคโนโลยีการจัดการน้ำและปุ๋ยในระบบเดียวกัน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการเกษตร โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนระบบน้ำและปุ๋ยแบบให้อัตโนมัติ

ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๘

๑. https://www.cqrb.cn/topics/2024ymkcq/2025-01-02/2135609_pc.html

ที่มา: เข้าถึงรูปภาพวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๘

๑. https://699pic.com/tupian-501046217.html

Chengdu_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน