กว่างซี-กว่างตงจับมือปั้นโมเดล “เขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามมณฑล” แห่งแรกในจีน
20 Aug 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : “เขตสาธิตพิเศษความร่วมมือกวางตุ้ง-กว่างซี” (粤桂合作特别试验区) นับเป็นปรากฎการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของ “การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจข้ามมณฑล” แห่งแรกของประเทศจีน
“เขตสาธิตพิเศษฯ” ตั้งอยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองจ้าวชิ่ง (Zhaoqing City, 肇庆市) ของมณฑลกวางตุ้งกับเมืองอู๋โจว(Wuzhou City, 梧州市) ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งต่างฝ่ายต่างจัดสรรพื้นที่ 50 ตร.กม. (รวม 100 ตร.กม.) เพื่อพัฒนาเป็นเขตสาธิตพิเศษดังกล่าว
เหตุใดจึงต้องจัดตั้ง “เขตสาธิตพิเศษ”? เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกของกว่างซีและภาคตะวันตกของกวางตุ้งต่างเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนา (เมืองทั้ง 2 เป็นเมืองชายขอบ) การจัด “เขตสาธิตพิเศษ” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในพื้นที่
จากจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ เมืองทั้ง 2 ข้างต้นจึงรับหน้าที่สำคัญในการเป็นฐานรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินทุน เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Zhu River, 珠江) และประตูรุกตลาดจีนตะวันตก รวมถึงอาเซียน
ความเป็นมาของ “เขตสาธิตพิเศษ” เริ่มต้นเมื่อปี 2553 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission: NDRC, 国家发改委) ได้อนุมัติการจัดตั้งเขตนำร่องรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมทางภาคตะวันตกของพื้นที่ภาคตะวันออกของกว่างซี
รายละเอียดระบุให้เมืองอู๋โจวพัฒนารูปแบบการพัฒนาการรองรับอุตสาหกรรมและแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่ (การสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวเลือกแรก) ซึ่งรัฐบาลกว่างซีเองก็ระบุชัดให้เมืองอู๋โจวเร่งประสานความร่วมมือโดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งติดมณฑลกวางตุ้ง และรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก
ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2554 มณฑลกวางตุ้งและเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้มีการลงนาม “ข้อตกลงกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กวางตุ้งกว่างซี 5 ปี ฉบับที่ 12” (“十二五”粤桂战略合作框架协议) โดยสาระสำคัญระบุถึงการร่วมจัดตั้งเขตสาธิตความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในบริเวณ 2 ฝั่งเลียบแม่น้ำซีเจียง (Xi River, 西江) ของเมืองอู๋โจวและเมืองจ้าวชิ่ง
เพื่อดำเนินการตามกรอบข้อตกลงข้างต้น เทศบาลเมืองของทั้ง 2 เมืองได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการแบบข้ามเขตปกครอง โดยการจัดตั้ง “เขตสาธิตพิเศษความร่วมมือกวางตุ้ง-กว่างซี” และแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ได้มีการลงนาม “ข้อตกลงกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์จ้าวชิ่ง-อู๋โจว” (ข้อตกลงระดับท้องถิ่น)
ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 การจัดตั้งเขตสาธิตพิเศษถูกยกระดับความสำคัญขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ระดับมณฑล หลังจากที่รัฐบาล 2 มณฑลตัดสินใจร่วมลงนาม “ข้อคิดเห็นว่าด้วยการจัดตั้งเขตสาธิตพิเศษความร่วมมือกวางตุ้ง-กว่างซี”
และเมื่อเดือนมกราคม 2556 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปของ 2 มณฑลได้จัดการประชุมร่วม และเชิญกลุ่มผู้เชี่ยวชาญร่วมศึกษา “แผนงานรวมว่าด้วยการสร้างและพัฒนาเขตสาธิตพิเศษความร่วมมือกวางตุ้งกว่างซี (ปี 2555-2573)” ถือว่าเขตสาธิตพิเศษฯ ได้เข้าสู่ช่วงของการจัดตั้งอย่างแท้จริง
ความพิเศษของ “เขตสาธิตพิเศษฯ” ดำเนินการภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และการรับสิทธิประโยชน์ซ้อนภาคตะวันออก+ภาคตะวันตก จากการคาดหมายจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกรอบการพัฒนาภาคตะวันตก กรอบการพัฒนาและปฏิรูปเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง และกรอบการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี
อย่างไรก็ดี กลไกบริหารจัดการด้านการปกครองยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ดิน การจดทะเบียนพาณิชย์และอุตสาหกรรม การจัดเก็บภาษี การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบด้านสาธารณสุข และระบบประกันสังคม
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีนำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตสาธิตพิเศษฯ และต่างฝ่ายต่างออกเงินทุนในสัดส่วนที่เท่ากันเพื่อดำเนินการจัดตั้งบริษัทพัฒนาการลงทุนขึ้น เพื่อทำหน้าที่พัฒนาที่ดิน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การดึงดูดการลงทุน และการบริหารจัดการภายในเขตสาธิตพิเศษแห่งนี้
ในส่วนของการจัดสรรผลประโยชน์ในรูปของเงินภาษีหรือรายได้อื่นๆ ในเขตสาธิตพิเศษฯ ให้รัฐบาลของ 2 มณฑลแบ่งสรรในสัดส่วนที่เท่ากัน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มแสวงหากลไกการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ โดยการจัดตั้ง “เขตความร่วมมือพิเศษ” เป็นหนึ่งในกลไกที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีการทยอยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนไม่น้อย อาทิ เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนาม (2 แห่ง คือ ผิงเสียง-ล่างเซิน และตงซิง-ดงด่าง) และเขตสาธิตพิเศษความร่วมมือกวางตุ้ง-กว่างซี (2 แห่ง คือ เมืองจ้าวชิ่งและเมืองอู๋โจว ขณะที่เมืองม่าวหมิง (Mao Ming City, 茂名市) ของกวางตุ้งกับเมืองยวี่หลิน (Yulin City, 玉林市) ของกว่างซีอยู่ระหว่างการผลักดัน)
ดังนั้น นักลงทุนไทยที่กำลังมองหาลู่ทางหรือแหล่งลงทุนใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่อาจศึกษาพิจารณาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนของท่าน เพราะเขตความร่วมมือประเภทนี้ได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นและส่วนกลางไม่น้อย