กว่างซีโปรโมทจุดขาย “ชายแดนทองคำ” จีบนักลงทุนไต้หวันรุกตลาดอาเซียน

17 Mar 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : “กว่างซีกลายเป็นจุดโฟกัสของทุกภาคส่วนในไต้หวัน ภายหลังรัฐบาลจีนผลักยุทธศาสตร์ การเปิดพื้นที่พรมแดนสู่ภายนอก(อาเซียน)

พื้่นที่ชายแดนของกว่างซีได้รับการวางตำแหน่ง (Positioning) เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้าง เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21และพื้นที่พรมแดนเปิดสู่ภายนอก

จึงกล่าวได้ว่า พื้่นที่ชายแดนของกว่างซี เป็นพื้นที่ ทำเลทอง ของประเทศจีน

นายหวาง จื้อ หย่ง (Huang Zhi Yong, 黄志勇) รองผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์เขต ฯกว่างซีจ้วง (Guangxi Academy of Social Science, 广西社会科学院) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน แวดวงธุรกิจ แวดวงการศึกษา และแวดวงการเมืองของไต้หวันกำลังให้ความสนใจและหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากการมีพรมแดนทางบกของกว่างซีในการบุกตลาดเวียดนามและอาเซียน รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ (ในปี 2558)

นายหวางฯ กล่าวว่า กระแสการเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ชายแดนนำมาซึ่งโอกาสในการขยายความร่วมมือระหว่างกว่างซีกับไต้หวัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน (Win-Win Situation) อาทิ การท่องเที่ยวข้ามแดน เศรษฐกิจการค้าชายแดน การพัฒนาพื้นที่นำร่องการปฏิรูปการเงินในพื้นที่ชายแดน การพัฒนาเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดน การขยายตลาดอาเซียน และการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity)

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นความร่วมมือและการพัฒนาการท่องเที่ยวข้ามแดน เป็นสาขาความร่วมมือภาคการลงทุนที่น่าจะเห็นผลรวดเร็วที่สุด

จากบริบทที่ทางการกว่างซีและเวียดนามกำลังผลักดันความรร่วมมือด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนจีน-เวียดนาม นายหวางฯ เสนอว่า วิสาหกิจไต้หวันสามารถอาศัยโอกาสดังกล่าวโดยร่วมมือกับกว่างซี เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวข้ามแดน การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การจัดตั้งบริษัทนำเที่ยว

การกำหนดแบรนด์การท่องเที่ยว (Tourism Brand Planning) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม โดยการนำ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมของไต้หวัน มาผสมผสานให้เข้ากับทรัพยากรท่องเที่ยวข้ามแดนจีน-เวียดนาม

ส่วนใน ประเด็นความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน ปัจจุบัน มีวิสาหกิจไต้หวัน (Guangxi Kunlun Logistic Group, 广西昆仑物流集团) ลงทุนร่วมกับอำเภอหลงโจว (Longzhou County, 龙州县) เมืองฉงจั่วของกว่างซี เพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานบริเวณด่านชายแดนและจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน ซึ่งน่าจะเป็น แม่แบบความร่วมมือ ที่ดีสำหรับพื้นที่ชายแดนแห่งอื่น

เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพรมแดนติดกับ 4 จังหวัดของประเทศเวียดนาม คือ  Quang ninh, Lang son, Cao Bang และ Ha Giang

ปัจจุบัน กว่างซีมีด่านพรมแดนชั้นหนึ่ง (ด่านสากล) จำนวน 6 แห่ง[*] ด่านพรมแดนชั้นสอง (สำหรับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน) 6 แห่ง และมีจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนอีก 26 แห่ง

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ พื้นฐานความพร้อมในการเปิดสู่ภายนอกของด่านพรมแดน(รวมถึงจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดน) ในกว่างซี ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์การค้าที่ยังคงล้าสมัย (ยกเว้นด่านตงซิงและด่านในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงที่ได้รับการพัฒนาพร้อมแล้ว)

ดังนั้น ทางการกว่างซีเตรียมพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขตการเปิดสู่ภายนอกและพัฒนาฟังก์ชั่นของด่านพรมแดน การสร้างมาตรฐานการพัฒนาจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดน การสร้างฟังก์ชั่นบริการด้านการค้าการลงทุนในพื้นที่ชายแดน

นายหวางฯ ชี้ว่า จากบริบทข้างต้น นักลงทุนชาวไต้หวันสามารถร่วมมือกับกว่างซีในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในด่านพรมแดน เขตนิคมอุตสาหกรรม จุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดน จุดกระจายสินค้า ตลาดการค้าชายแดน และศูนย์คลังขนส่งสินค้า

ประเด็นการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาเขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน

ปัจจุบัน กว่างซีได้เริ่มดำเนินนโยบายจัดตั้งเขตนำร่องฯ ตามแนวทางของรัฐบาลกลางแล้ว จากบริบทดังกล่าว สถาบันการเงินของไต้หวันสามารถอาศัยโอกาสดังกล่าวจะการขยายตลาดและธุรกรรมในกว่างซี

นายหวางฯ กล่าวว่า นักลงทุนไต้หวันสามารถลงทุนจัดตั้งหน่วยงานหรือสำนักงานสาขา (ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน บริษัทสินเชื่อรายย่อย กองทุนร่วมลงทุน บริษัทลีสซิ่ง) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมสองฝั่งทะเล (กว่างซี-ไต้หวัน) การจัดตั้งระบบการเงินสมัยใหม่เพื่อการบริการด้านการเงินการธนาคารและประกันภัย

การพัฒนาธุรกรรมเงินหยวนแบบครบวงจร ทั้งบริการฝากถอน สินเชื่อ โอนเงิน การชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศ และผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงทางการเงิน (Wealth Management Products) รวมถึงธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนระหว่างไต้หวันกับกว่างซี เพื่ออำนวยความสะดวกทางการเงินให้กับภาคธุรกิจท้องถิ่น และการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย

การมีพรมแดน(ติดอาเซียน)นับเป็นข้อได้เปรียบของกว่างซีที่นำมาซึ่งโอกาสสำหรับวิสาหกิจชาวไต้หวันที่ลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่มีตลาดลูกค้าและตลาดวัตถุดิบในอาเซียนหรือไม่ก็ตาม)

นักลงทุนไต้หวันสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (ลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากร) เพิ่มมากขึ้นภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีจีน อาเซียน ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างผลไม้เพื่อการแปรรูปและส่งออกไปขายยังตลาดอาเซียนหรือตลาดจีน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นหรือขอคืนภาษี (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับการจัดตั้งกิจการในเขตอารักขาทางศุลกากร (เขตสินค้าทัณฑ์บน/เขตปลอดภาษี) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการประกอบกิจการและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับตัวสินค้าของนักลงทุน อีกทั้ง นักลงทุนชาวยังสามารถอาศัยตลาดเวียดนามเป็นฐานรุกตลาดอาเซียน

 ประเด็นความร่วมมือสาขาการค้าบริการ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีศักยภาพสูง โดยนักลงทุนไต้หวันสามารถพัฒนาความร่วมมือในสาขาบริการกับจีนและอาเซียน อาทิ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรระหว่างประเทศ รวมทั้งด้านวัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข และกีฬา

ท้ายที่สุด ประเด็นการลงทุน นักลงทุนไต้หวันสามารถขยายความร่วมมือด้านการลงทุนกับอาเซียน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ถูกกีกกันจากจีน อุตสาหกรรมที่มีต้นทุนแรงงานสูง และอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในอาเซียน

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถขยายตลาดจีน ตลาดอาเซียน และตลาดต่างประเทศไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน สามารถแปรรูปสินค้าขั้นปฐมภูมิของอาเซียนเพื่อจำหน่ายในจีนแผ่นดินใหญ่

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางการกว่างซีได้วางกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนอกจากจะให้น้ำหนักกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณแนวชายฝั่งทะเลรอบอ่าวเป่ยปู้ และเส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียงแล้ว ยังให้ความสำคัญกับ พื้นที่ชายแดน สะท้อนให้เห็นได้จากการผลักดันนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ชายแดนหลายต่อหลายชุด

ช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกว่างซีและไต้หวันมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน วิสาหกิจจากไต้หวันเป็นกลุ่มนักลงทุนนอกแผ่นดินใหญ่รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของกว่างซี

จากรายงานที่นำเสนอข้างต้น BIC เห็นว่า ทางการกว่างซีต้องการ ยืมแรง ไต้หวันในการพัฒนาความเจริญในพื้นที่ชายแดนกว่างซีกับเวียดนาม เพราะไต้หวันมีจุดแข็งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และระบบบริหารจัดการธุรกิจที่มีความทันสมัย

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสที่นำเสนอข้างต้นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่พื้นที่ชายแดนกว่างซีมีความพร้อมสมบูรณ์แล้วในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม

[*]เขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่านพรมแดนชั้นหนึ่ง (ด่านสากล) จำนวน 6 แห่ง คือ ด่านตงซิง (Dongxing Border, 东兴市) ในอำเภอระดับเมืองตงซิง (สังกัดเมืองฝางเฉิงก่าง) / ด่านรถไฟผิงเสียง (Pingxiang Border, 凭祥口岸) และด่านโหย่วอี้กวาน (Pingxiang Border, 凭祥口岸) ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (สังกัดเมืองฉงจั่ว) / ด่านสุยโข่ว (Shuikou Border, 水口口岸) ในเมืองฉงจั่้ว / ด่านหลงปัง (Longbang Border, 龙邦口岸) ในอำเภอหลงโจว และด่านผิงเมิ่ง (Pingmeng Border, 平孟口岸) ในอำเภอน่าพัว (Napo County, 那坡县) ของเมืองไป่เซ่อ

ด่านพรมแดนชั้นสอง ((สำหรับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน) จำนวน 6 แห่ง คือ ด่านตงจง (Dongzhong Border, 峒中口岸) ในเมืองฝางเฉิงก่าง / ด่านอ้านเตี้ยน (Aidian Border, 爱店口岸) ในอำเภอหนิงหมิง และด่านซัวหลง (Shuolong Border, 硕龙口岸) ในอำเภอต้าซิน ของเมืองฉงจั่ว / ด่านผิงเอ๋อร์ (Ping’er Border, 平而口岸) ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง / ด่านเคอเจี่ย (Kejia Border, 科甲口岸) ในอำเภอหลงโจว เมืองไป่เซ่อ / ด่านเยว่ซวี (Yuexu Border, 岳圩口岸) ในอำเภอจิ้งซี เมืองไป่เซ่อ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน