กว่างซีเหยียบคันเร่งเดินหน้าพัฒนาการผลิตผลไม้ ไทยได้หรือเสีย

22 Mar 2013

กว่างซีถือเป็นหนึ่งในมณฑลยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตผลไม้ของประเทศจีน โดยเฉพาะผลไม้เขตร้อนและเขตกึ่งร้อน

ผลไม้เด่นของกว่างซี ประกอบด้วย ลิ้นจี่ ลำไย กล้วยหอม มะม่วง ส้มแมนดาริน และส้มโอพันธุ์ซาเถียน (Sha Tian Pomelo, 沙田柚)

เมื่อปีก่อน (ปี 55) กว่างซีสามารถผลิตผลไม้ได้ 10.31 ล้านตัน โดยที่ผลไม้หลายชนิดมีปริมาณการผลิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้แก่ ส้มแมนดาริน อันดับ 2 ของประเทศ ลูกพลับ อันดับ 1 ของประเทศ และผลไม้เขตร้อนและเขตกึ่งร้อน อันดับ 2 ของประเทศ

ในปีนี้ กว่างซีได้วางแผนรักษาพื้นที่การผลิต (6.12 ล้านไร่) และยกระดับปริมาณผลผลิตให้ได้มากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า (ตั้งเป้า 10.8 ล้านตัน)

ขณะเดียวกันจะเสริมสร้างแรงแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้ โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ผลไม้ให้ได้คุณภาพ และการขยายตลาดผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ กว่างซีได้เร่งทดลองนำพันธุ์ผลไม้ใหม่ๆ จากทั้งในท้องถิ่นและนอกมณฑลเข้ามาปลูก จำนวน 10 ชนิด คาดหมายว่า ประชาชนชาวได้รับประทานผลไม้ดังกล่าวภายใน 3 ปี (ผลไม้จากต่างแดนที่กว่างซีประสบความสำเร็จในการปลูกแล้ว ได้แก่ มะเฟืองของมาเลเซีย ฝรั่งของไทย และพุทราเขียวของไต้หวัน เป็นต้น)

ผลไม้นอกมณฑล ได้แก่ ส้มโอหม่าเจียของมณฑลเจียงซี (Ma Jia Pomelo, 马家柚) ส้มหวานโพเวลล์ของนครฉงชิ่ง (Powell Sweet Orange, 鲍威尔甜橙) ส้มโอเนื้อแดงกว่านซีของมณฑลฝูเจี้ยน (Guan Xi Red Pulp Honey Pomelo, 红心琯溪蜜柚)

ผลไม้ในท้องถิ่น ได้แก่ ผลว่านโซ่ว (Pawpaw, 万寿果) ลูกซิลเวอร์เบอร์รี่ญี่ปุ่น (Japanese Silverberry, 秋胡颓子) มะไฟจีน (Single Seed Wampee, 独核黄皮) ลูกพลับป่าข (Dateplum, 君迁子) เกาลัดผิงผัว (Sterculia Nobilis, 苹婆) ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ของอำเภอต้าซิน (Dracontomelon Dao, 仁面子) และมะไฟป่า (Baccaurea ramiflora Lour, 火果)

BIC เห็นว่า ความเป็นมณฑลด้านการเกษตรของกว่างซี ตลอดจนสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกผลไม้ได้ดี ทำให้ผลไม้เขตร้อนบางประเภทที่ปลูกเกิดความซ้ำซ้อนกับผลไม้ไทย อาทิ ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มะละกอ และสับปะรด

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน เมื่อเทียบกับผลไม้เขตร้อนที่ปลูกในกว่างซีแล้ว ผลไม้ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพและรสชาติ ทำให้ผลไม้ไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดกว่างซี และหาซื้อได้ง่ายทั้งในซุปเปอร์มาร์เก็ตและแผงลอยโดยขึ้นอยู่กับเกรดสินค้า

ทว่า การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้ของกว่างซีอย่างต่อเนื่อง คงตอบไม่ได้ว่า ในอนาคต แรงแข่งขันของผลไม้เขตร้อนที่ปลูกในกว่างซีจะไล่ตามผลไม้ไทยได้หรือไม่?? และผลไม้ไทยจะยังคงมีความได้เปรียบดังเช่นในปัจจุบันหรือไม่??

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สถานการณ์นำเข้าส่งออกผลไม้ของกว่างซี ดังนี้

ปี 55 กว่างซีนำเข้าส่งออกผลไม้สด-แห้ง คิดเป็นน้ำหนัก 9.54 แสนตัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออก 4.33 แสนตัน และนำเข้า 5.21 แสนตัน โดยส่วนใหญ่เป็นการค้าผลไม้กับเวียดนาม และรวมถึงบางประเทศสมาชิกอาเซียน (แต่ไม่มากนัก) โดยการค้าผลไม้กับอาเซียนคิดเป็นน้ำหนัก 9.47 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.3 ของการนำเข้าส่งออกผลไม้ทั้งหมด

รูปแบบการค้าหลัก คือ การค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน (Petty Trade in the Border Area) กับประเทศเวียดนาม คิดเป็นน้ำหนัก 9.38 แสนตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.4 ของปริมาณนำเข้าส่งออกทั้งหมด

ผลไม้ส่งออกของกว่างซี ได้แก่ ส้มแมนดาริน สาลี่ แอปเปิ้ล และส้ม โดยคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 86.5 ของผลไม้ส่งออกทั้งหมด

ผลไม้นำเข้าของกว่างซี ได้แก่ แก้วมังกร แตงโม ลำไย และลิ้นจี่ โดยคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 98 ของผลไม้นำเข้าทั้งหมด

 อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang City, 凭祥市) ปากทางเส้นทาง R8 R9 และ R12เป็นด่านนำเข้าส่งออกผลไม้หลักของกว่างซี ด้วยตัวเลข 6.96 แสนตัน (ลดลงร้อยละ 4.5) หรือคิดเป็นร้อยละ 72.95 ของการนำเข้าส่งออกผลไม้ทั้งหมด

ในจำนวนข้างต้น เป็นการส่งออกน้ำหนัก 3.96 แสนตัน หรือร้อยละ 56.89 ของการค้าผลไม้กับต่างประเทศของกว่างซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้ต่างถิ่น (ผลไม้จากทางตอนเหนือของจีน) อาทิ ส้มแมนดาริน สาลี่ และแอปเปิ้ล

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน