กว่างซีเร่งปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ต้นแบบการเรียนรู้ของชาวไร่อ้อยไทย

27 Mar 2014

สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการกว่างซีเดินหน้าผลักดันโครงการ ฐานสาธิตการปลูกอ้อยพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตและมีค่าความหวานสูง

กว่างซี เป็นฐานการผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ

แต่ละปีจะมีการเปิดหีบอ้อยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนในปีถัดไป

กว่างซีตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 3-5 ปี จะเร่งผลักดันโครงการฐานสาธิตฯ บนเนื้อที่ 5 ล้านหมู่จีน (ราว 2.08 ล้านไร่) แบ่งเป็นโครงการนำร่องปีนี้ (ปี 57) จำนวน 5 แสนหมู่จีน (ราว 0.208 ล้านไร่)

จึงกล่าวได้ว่า โครงการดังกล่าวมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลอ้อยของกว่างซีอย่างมาก นอกจากจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กระตุ้นให้เกิดการรวมพื้นที่่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่พื้นที่นอกโครงสร้างก็สามารถจัดสรรพื้นที่เพื่อพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

ปัจจุบัน การดำเนินการในพื้นที่นำร่องมีความคืบหน้าพอสมควร อาทิ การรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การพัฒนาระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการเพาะพันธุ์อ้อยคุณภาพดี และการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรทั้งกระบวนการผลิต รวมถึงนโยบายและเงินทุนสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง

คำนวณคร่าวๆ พื้นที่สาธิตฯ ทั้งหมด 5 ล้านหมู่จีน หากได้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อหมู่จีน 8 ตัน (หรือ 8 ตันต่อ 0.42 ไร่) นั่นหมายความว่า จะได้ผลผลิตอ้อยรวมเท่ากับ 40 ล้านตัน และหากค่าความหวานของอ้อยสูงกว่าร้อยละ 14 ก็หมายความว่าจะได้ผลผลิตน้ำตาลสูงถึง 5.5 ล้านตัน

หากเป็นเช่นนี้ โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะได้รับการบูรณาการ พื้นที่อุตสาหกรรมอ้อยของกว่างซีมีการรวมศูนย์ (ปัจจุบัน กระจัดกระจายรายย่อย)  ส่วนเขตอุตสาหกรรมที่ยังไม่พัฒนา ก็จะสามารถปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมขึ้นอีกขั้น

ทั้งนี้ ทางการกว่างซีได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างและยกระดับประสิทธิการผลิตในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของมณฑล 4 ประการ ดังนี้

หนึ่ง กรรมสิทธิ์ที่ดิน – ขยายขนาดการผลิต (Scale up) 

เจ้าหน้าที่กรมการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Agricultural Department, 广西农业部) ชี้ว่า แนวทางการพัฒนาโครงการฯ จำเป็นต้องเริ่มจากการตรวจสอบยืนยันและการเปลี่ยนมือ(โอน)กรรมสิทธิ์ที่ดินเพาะปลูก

ข้อมูลจากกรมการเกษตรฯ พบว่า ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในกว่างซีมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยครัวเรือนละ 9 หมู่จีน (ราว 3.75 ไร่) คิดเป็นพื้นที่เฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง 2 หมู่จีน (ราว 0.83 ไร่)

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของการเพาะปลูกอ้อยในกว่างซีที่มีขนาดเล็ก และเน้นระบบครอบครัวเดี่ยว (รายย่อย และขาดการรวมกลุ่ม) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายขนาดการผลิตของอุตสาหกรรมเพาะปลูกอ้อยในกว่างซี

หลายปีมานี้  หลายพื้นที่ทั่วกว่างซีได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เช่น การรวมพื้นที่เขตอ้อย การส่งเสริมผู้ปลูกอ้อยรายใหญ่ การรวมกลุ่มสหกรณ์ความร่วมมือ การพัฒนาครอบครัวเกษตร และการสนับสนุนการขยายขนาดการผลิตเพื่อยกระดับประสิทธิผลองค์รวม

ปี 56 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคิดเป็นพื้นที่ 1.19 ล้านหมู่จีน (ราว 4.95 แสนไร่) ในจำนวนนี้ เป็นที่ดินขนาด 500 หมู่จีนขึ้นไป จำนวน 192 ครัวเรือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0) ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาด 13,500 หมู่จีน (ราว 5,625 ไร่)

ในปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการฯ (รวมทั้งสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีการรวมแปลง) เพื่อสร้างหลักประกันว่าโครงการนำร่องฯ จะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

สอง คัดสรรอ้อยพันธุ์ดี พัฒนาพันธุ์อ้อย

ปี 56 กว่างซีมีพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นสายพันธุ์จากไต้หวันทั้งสิ้น 12.8218 ล้านหมู่จีน (ราว 5.34ล้านไร่) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 78.6 ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด (ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.9 จุด)

ส่วนพื้นที่ปลูกที่เป็นสายพันธุ์จากมณฑลกวางตุ้งมีทั้งหมด 1.2748 ล้านหมู่ (ราว 5.31 แสนไร่)  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.8 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จุด) และพื้นที่ปลูกที่เป็นสายพันธุ์ในกว่างซีเอง (สายพันธุ์ Gui Tang และสายพันธุ์ Gui Liu) มีทั้งสิ้น 1.0301 ล้านหมู่จีน (ราว 4.29 แสนไร่) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.3 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จุด)

ผู้เชี่ยวชาญกรมการเกษตรฯ ชี้ว่า โครงสร้างสายพันธุ์อ้อยที่ปลูกในกว่างซีได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับ ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนการปลูกอ้อยสายพันธุ์ไต้หวันมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ การปลูกอ้อยสายพันธุ์อื่่นที่มีการพัฒนาเองหรือนำมาจากต่างถิ่นล้วนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ตามรายงาน “โครงร่างการก่อตั้งฐานปลูกอ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพสูง” โดยตั้งเป้าหมายว่าใช้ระยะเวลา 5 ปี ในการสร้างพื้นที่บ่มเพาะอ้อยสายพันธุ์ดีที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพสูงและสามารถปรับสภาพให้เข้ากับการพัฒนาสายพันธุ์ในปัจจุบัน และจะยกระดับอ้อยสายพันธุ์ดีที่กว่างซีบ่มเพาะเองให้มีสัดส่วนที่มากว่าร้อยละ 30 ขึ้นไป

สาม ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพสูง ผลผลิตเพิ่ม

หมู่บ้านชิ่งเหอ (Qinghe Village, 庆合村) ตำบลซินเหอ (Xinhe Town, 新和镇) เขตเจียงโจว (Jiangzhou Area, 江州区) เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City, 崇左市) เป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างระบบชลประทานที่มีความทันสมัย

เกษตรกรในหมู่บ้านแห่งนี้ใช้วิธีรูด บัตรอัจฉริยะ ในการปล่อยน้ำเข้าแปลงเกษตร โดยคิดราคา 1.5 หยวนต่อหน่วย(ตัน) ทำให้การรดน้ำในแปลงขนาดสองสามร้อยหมู่จีน (ราว 83-125 ไร่) ด้วยแรงงานคนเพียงคนเดียวกลายเป็นเรื่องที่ง่าย ประหยัดทั้งเงินประหยัดทั้งแรง

ส่วนในตำบลตั้วหลู (Duolu Town, 驮卢镇) เขตเจียงโจว เมืองฉงจั่ว พื้นที่ปลูกอ้อยขนาดหมื่นหมู่จีน (ราว 4,166 ไร่) มีการใช้ระบบท่อส่งน้ำผ่านห้องควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า การส่งจ่ายน้ำและปุ๋ยผ่านท่อส่ง(ระบบท่อหยดน้ำ)มีความแม่นยำด้วยระบบควบคุมคอมพิวเตอร์

เทคนิคการชลประทานแบบประหยัดน้ำ (หยดน้ำชลประทาน) ช่วยลดต้นทุนแปลงปลูกอ้อย (น้ำ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง) ลงได้เฉลี่ยร้อยละ 50 ต่อแปลง(หมู่จีน)

การก่อสร้างโครงการระบบชลประทานดังกล่าวในพื้นที่เขตเจียงโจว (เมืองฉงจั่ว) ในพื้นที่ปลูกอ้อย 60,000 หมู่จีน (ราว 25,000 ไร่) ได้ผลผลิตอ้อยต่อหน่วย(หมู่จีน) 6.5 ตัน ซึ่งสูงกว่าพื้นที่นอกโครงการชลประทานกว่า 2 ตัน

ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการเกษตรฯ ให้ข้อมูลว่า กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1.6 ล้านหมู่จีน (0.6 ล้านไร่) ในกว่างซี กระจุกตัวอยู่ทางภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่สูงและมีความแห้งแล้ง อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกมีลักษณะกระจัดกระจาย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานค่อนข้างด้อย (ระบบชลประทาน และถนนหนทาง) การทำการเกษตรต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเป็นหลัก พื้นที่ที่มีระบบชลประทานคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 15 ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด

ในปีนี้ ทางการกว่างซีจะดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำพร้อม มีสภาพพื้นที่ราบ มีระบบสาธารณูปโภคและปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างพร้อมสมบูรณ์ เพื่อให้สิทธิดำเนินโครงการนำร่องฯ ก่อน โดยพื้นที่ในเมืองฉงจั่วและพื้นที่เกษตรของ State Farm (农垦) ได้เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีปัจจัยความพร้อมค่อนข้างสูง โดยกำหนดพื้นที่โครงการฯ 2 แสนหมู่จีน (ราว 83,336 ไร่) และ 1.6 แสนหมู่จีน (ราว 66,669 ไร่) ตามลำดับ

สี่ การใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิต (Mechanization) – ประหยัดเงินประหยัดแรง

ปัจจุบัน อัตราการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตอ้อยของกว่างซี (Mechanization) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้ในขั้นตอนการไถพรวนและการเพาะปลูก

ขณะที่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวมีการใช้อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.05 เท่านั้น เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยยังคงอาศัยแรงงานคน ซึ่งมีต้นทุนการจ้างงานอยู่ที่ 120-150 หยวนต่อตัน และคิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของราคารับซื้ออ้อย

ต้นทุนการผลิตสูง ผลิตภาพการผลิตต่ำจากการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของต้นทุนแรงงาน และการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว กลายเป็น ขอควด การพัฒนาในอุตสาหกรรมน้ำตาลของกว่างซี

เพื่อแก้ไขอุปสรรคข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลเครื่องจักรกลทางการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วง (Administration of Agricultural Machinery, 广西农业机械化管理局) ได้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สาธิตการใช้เครื่องจักรกลทั้งกระบวนการผลิตอ้อย

ในปีนี้ (ปี 57) ทางการกว่างซีได้จัดสรรเงินลงทุนเพื่อดำเนินโครงการสาธิตฯ จำนวน 7 ล้านหยวน โดยทางสำนักงานฯ วางแผนจัดสรรให้กับเมืองฉงจั่ว จำนวน 3.3 ล้านหยวน เพื่อใช้สำหรับการจัดตั้งพื้นที่สาธิตฯ บนเนื้อที่ 1 แสนหมู่จีน (ราว 41,668 ไร่)

ตามรายงาน ในฤดูหีบอ้อยปีก่อน (ฤดูการผลิต 55/56) สำนักงานฯ ประจำเมืองฉงจั่วได้จัดสรรเครื่องปลูกอ้อย จำนวน 94 เครื่อง คิดเป็นพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 7.7 แสนหมู่จีน (ราว 3.2 แสนไร่) คิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งเมือง และมีการเก็บเกี่ยวอ้อยไปแล้ว 2,565 หมู่จีน (ราว 1,069 ไร่) คิดเป็นน้ำหนัก 12,100 ตัน

ในฤดูการผลิต 56/57 ณ ปัจจุบัน เมืองฉงจั่วได้จัดสรรเครื่องตัดอ้อยจำนวน 24 เครื่อง เพื่อใช้เก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่มากกว่า 20,000 หมู่จีน (ราว 8,333 ไร่) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า  2/3 ของพื้นที่เก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรทั้งหมด

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลไม่หวานผู้แทนกว่างซีร้องรัฐบาลกลาง เร่งแก้ไขวิกฤตปัญหา ขาดทุน(12 มี.ค. 2557)

กุมขมับ!!! ผู้ผลิตน้ำตาลกว่างซีเจอวิกฤตต้นทุน รับผลขาดทุนถ้วนหน้า (28 ก.พ. 2557)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน