กว่างซีเปิดโมเดลการชำระบัญชีสินค้าโภคภัณฑ์รูปแบบใหม่ ดันเงินหยวนสู่สากล
23 Jun 2023ในยุคที่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวสู่ ‘ความเป็นดิจิทัล’ อย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ ‘สังคมดิจิทัล’ ในทุกมิติ โดยนวัตกรรมทางการเงิน หรือ Fintech ซึ่งมาจาก Financial + Technology เป็นกระแสที่แทรกซึมแทบจะทุกกิจกรรม และมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศจีน
ในประเทศจีน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีบทบาท ‘นำร่อง’ ด้านการปฏิรูปและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะในด้านธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดน ซึ่งบีไอซี ได้นำเสนอให้กับผู้อ่านทราบอยู่เป็นระยะ
ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ กรมพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงแถลงว่า เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจวได้ทดลองทำธุรกรรมการค้าและการชำระบัญชีการค้าแร่แมงกานีสนำเข้าด้วยสกุลเงินหยวนครั้งแรกได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นก้าวสำคัญของเขตทดลองฯ ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการค้าข้ามแดนและการชำระบัญชีการค้าแร่แมงกานีสนำเข้าที่เป็นรูปธรรม
การซื้อขายครั้งนี้ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม Beibu Gulf Mercantile Exchange (北部湾大宗商品交易平台) ซึ่งมีบริษัท Guangxi Free Trade Zone Qinzhou Area Development and Investment Group (广西自贸区钦州港片区开发投资集团有限责任公司) กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการแมงกานีสจีนอย่าง South Manganese Investment (南方锰业集团有限责任公司) เป็นผู้จัดตั้งขึ้น
Tips ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างธนาคาร หรือ CIPS (Cross-Border Interbank Payment System) ของจีน (คล้ายกับระบบ SWIFT ที่ก่อตั้งโดยธนาคารสหรัฐฯ กับยุโรปหลายประเทศ) เป็นระบบหักบัญชีและชำระเงินสำหรับธุรกรรมที่ใช้สกุลเงินหยวน มีบริษัท CIPS Co. Ltd เป็นผู้ดำเนินการ และมีธนาคารกลางจีนเป็นผู้ดูแลระบบ โดยผู้ถือหุ้นใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินจีน และมีการจัดสรรการหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนมากรวมไปถึงสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา และธนาคารตะวันตก
รูปแบบการซื้อขาย คือ บริษัท South Manganese Investment มอบอำนาจให้บริษัท Beibul Gulf Canal (Guangxi) Industry Co.,Ltd. (บริษัทร่วมทุนของ Guangxi Free Trade Zone Qinzhou Area Development and Investment Group กับ South Manganese Investment) จัดซื้อแร่แมงกานีส (ชนิดก้อน) จากผู้ค้าในออสเตรเลีย น้ำหนัก 36,500 ตัน มูลค่า 60 ล้านหยวน ผ่านแพลตฟอร์มบริษัท Beibu Gulf Mercantile Exchange ที่จดทะเบียนอยู่ที่ฮ่องกง ผ่านบัญชี FT (Free Trade Account) ที่เปิดธนาคารที่เปิดที่เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว
โดยเป็นการชำระค่าสินค้าผ่านระบบ CIPS (Cross-border Interbank Payment System/人民币跨境支付系统) ด้วยสกุลเงินหยวน โดยเงินทุนไหลเข้า-ออกได้อย่างคล่องตัว สามารถล็อคอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนทั้ง ฯOnshore และ offshore ช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) และช่วยลดต้นทุนการค้าข้ามแดนให้กับภาคธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพการค้าข้ามแดน ช่วยบุกเบิกช่องทางใหม่ในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่สามารถดำเนินการได้จริง
รู้จัก…แพลตฟอร์ม Beibu Gulf Mercantile Exchange เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มทดลองเปิดใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2,560 ล้านหยวน การชำระบัญชีผ่านออนไลน์ 1,236 ล้านหยวน การซื้อขายส่งมอบสินค้าจริง 2.353 ล้านตัน มีบริษัทที่เข้าเป็นสมาชิกแล้ว 72 ราย
แพลตฟอร์มดังกล่าวมุ่งเป้าเป็นศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค เป็นจุดชำระบัญชีการค้า และเป็นจุดกำหนดราคาที่คิดราคาด้วยสกุลเงินหยวน ที่เชื่อมการเทรดแบบ Spot และ Futures / Inbound and Outbound / Online และ Offline และการจัดหาเงินทุน (Financing)
ในระยะแรกมุ่งเน้นที่ ‘ผลิตภัณฑ์แมงกานีสแบบ Full-line products’ อาทิ แร่แมงกานีสนำเข้า โลหะผสมซิลิคอนแมงกานีส (Ferro-silicon Manganese) แมงกานีสแยกด้วยประจุไฟฟ้า (Electrolytic Manganese Metal) แมงกานีสไดออกไซด์ แมงกานีสซัลเฟต และลิเธียมแมงกานีส
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวอาศัยข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลของเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว โดยมีแผนจะขยายสายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Non-Ferrous Metals) กลุ่มธัญพืช (Grains) กลุ่มผลิตภัณฑ์ห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain) รวมถึงกลุ่มปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ (Petroleum & Chemical) ในระยะต่อไป รวมทั้งบ่มเพาะการบริการในห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ข้ามแดน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ (Supply chain finance) ตลาดซื้อขายทันทีและตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (Spot and Future Market) การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ทันทีในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนผ่านแพลตฟอร์ม การซื้อขายข้ามแดน การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ (offshore trading) และการชำระบัญชีข้ามแดน
นอกจากนี้ ในระยะต่อไป แพลตฟอร์มฯ จะพัฒนาช่องทางการดำเนินธุรกรรมออนไลน์ในการค้าข้ามแดน การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน ปรับปรุงรูปแบบและขั้นตอนการค้าให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ข้ามแดนไว้คอยบริการจีนและอาเซียน และส่งเสริมให้เงินหยวนสู่สากล
บีไอซี เห็นว่า การจัดตั้งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการบูรณาการในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน ส่งเสริมการค้าหมุนเวียนระหว่างตลาดในประเทศจีนที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีการผลิตกับตลาดต่างประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรแร่ ส่งเสริมความเป็นสากลของสกุลเงินหยวน (แพลตฟอร์มใช้การชำระบัญชีการค้าด้วยสกุลเงินหยวน) และยกฐานะของจีนในการเป็นผู้กำหนดกฎกติการและราคาในการเทรดสินค้าโภคภัณฑ์
จัดทำโดย : นางสาวเหวย จี้จวิน (韦纪君) นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 09 มิถุนายน 2566
เว็บไซต์ www.bbwcec.com (北部湾大宗商品交易平台) วันที่ 09 มิถุนายน 2566