กว่างซีหยิบ “อุตสาหกรรมล่องเรือสำราญ” เป็นจิ๊กซอว์เสริมพัฒนาการ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21”

2 Apr 2014

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : แวดวงวิชาการชี้ว่า กว่างซีสามารถอาศัยจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ เพื่อกรุยทางสู่ศูนย์กลาง เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

ประเทศจีนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่อุตสาหกรรมล่องเรือสำราญมีการพัฒนารวดเร็วที่สุดในโลกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมล่องเรือสำราญมีมูลค่าสูงจนได้รับการขนานนามเป็น อุตสาหกรรมทองคำบนท้องทะเล ซึ่งสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในสัดส่วน 1:10

จากข้อมูลพบว่า ปี 56 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศด้วยเรือสำราญประมาณ 1.4 ล้านคน ขยายตัว 103 เปอร์เซนต์ และเป็นที่คาดหมายว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ มูลค่าทางการตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเติบโตเป็นเท่าตัว

และในปี 2563 (ค.ศ.2020) ตลาดเรือสำราญจะสร้างมูลค่าเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 51,000 ล้านหยวน และกลายเป็น ขั้วความเจริญทางเศรษฐกิจ (Economic Growth Pole) ขั้วใหม่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเดินเรือของประเทศจีน

ปัจจุบัน ทางการจีนอยู่ระหว่างการจัดทำ แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญจีน เพื่อวางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ

มูลค่าทางเศรษฐกิจอันมหาศาลสร้างแรงเย้ายวนใจให้เมืองท่าต่าง ๆ ในจีนเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวล่องเรือสำราญเป็นการใหญ่ โดยต่างจับจ้องรอ แบ่งเค้ก ก้อนโตก้อนนี้ ไม่ว่าจะเป็นนครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน เมืองเซี่ยเหมิน เมืองต้าหลียน และเมืองซานย่า

นายหลี่ ซื่อ เจ๋อ (Li Shi Ze, 李世泽) นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลกว่างซี (The Development Research Center, the People’s Government of Guangxi, 广西政府发展研究中心) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทะเลเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้าง เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

ภาระกิจสำคัญอันดับแรกของกว่างซีในการผลักดันการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญจีน-อาเซียน

กว่างซี เป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีปัจจัยพร้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมล่องเรือสำราญและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับอาเซียน เนื่องจากมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้ง มีทรัพยากรท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ มีตลาดลูกค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งมีขนาดเศรษฐกิจและเมืองเลียบชายฝั่งที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตามรายงาน กว่างซีเป็นมณฑลแรก ๆ ที่เปิดให้บริการเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างจีนกับอาเซียน คือ เส้นทางกว่างซี (เมืองเป๋ยไห่ เมืองฝางเฉิงก่าง) ฮาลองเบย์ของเวียดนาม

เมืองเป๋ยไห่ (Beihai City, 北海市) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2540 คิดเป็นเที่ยวบริการสะสม จำนวนกว่า 1,500 เที่ยว มีนักท่องเที่ยวใช้บริการแล้วกว่า 5 แสนคน

อย่างไรก็ดี โครงสร้างอุตสาหกรรมล่องเรือสำราญของกว่างซีถือว่าค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากขาดแผนงานสนับสนุนเป็นการเฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐานยังขาดความสมบูรณ์ (ท่าเทียบเรือที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับเรือสำราญนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ได้)

เส้นทางการให้บริการขาดความหลากหลาย รูปแบบการดำเนินธุรกิจขาดความคล่องตัว (ขาดความร่วมมือกับธุรกิจเรือสำราญที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ) และขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมล่องเรือสำราญ

นายหลี่ฯ ชี้ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น กว่างซีจะต้องประสานกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (National Tourism Administration, 国家旅游局) และสมาคมอุตสาหกรรมเรือสำราญและเรือยอร์ช (China Cruise & Yacht Industry Association, 中交会邮轮游艇分会) เพื่อยกฐานะของกว่างซีในแผนแม่บทฯ โดยมี เมืองเป๋ยไห่ เป็นศูนย์กลางในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

กว่างซีต้องกำหนดยุทธศาสตร์เฉพาะด้าน ตั้งแต่การวางตำแหน่ง (Positioning) และเป้าหมาย (Goal) ของการพัฒนา การวางแผนก่อสร้างท่าเทียบเรือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ล่องเรือสำราญ การพัฒนาเส้นทางเดินเรือ การบุกเบิกตลาดเรือสำราญ การพัฒนาโครงสร้างและนโยบายสร้างหลักประกันให้กับอุตสาหกรรมเรือสำราญ

เป้าหมายเน้นผลักดันให้เมืองเป๋ยไห่เป็นเมืองนำร่องการพัฒนาการท่องเที่ยวล่องเรือสำราญของประเทศจีน การผลักดันการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานระดับสากล (รองรับเรือขนาด 1 แสนตัน 1.5 แสนตัน และ 2.5 แสนตัน) การพัฒนางานบริการด้านตรวจคนเข้าเมือง

การพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน (อาหารเครื่องดื่ม ที่พัก บันเทิง สุขภาพ ช็อปปิ้ง การซ่อมบำรุงเรือ และรีไซเคิลขยะ) การต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นอย่างลงตัว

นายหลี่ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า กว่างซีต้องมุ่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเดินเรือสำราญระหว่างประเทศสู่อาเซียน บุกเบิกเส้นทางเดินเรือสู่หัวเมืองสำคัญทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน(กว่างซี)-เวียดนาม-กัมพูชา-ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย-บรูไน-ฟิลิปปินส์ / จีน(กว่างซี)-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ / จีน(กว่างซี)-มณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า-มณฑลไห่หนาน-ไต้หวัน-นครเซี่ยงไฮ้-นครเทียนจิน

 

ลิงค์ข่าวที่น่าสนใจ

ธุรกิจอิตาลีรุกกว่างซี ร่วมทุนผุดโครงการต่อเรือสำราญ หวังโกยเงินจากลูกค้ากระเป๋าหนัก (30 ก.ย. 2556)

กว่างซีจับมือเวียดนามดันเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล เล็งดึงประเทศอาเซียนเข้าร่วม (22 ต.ค. 2556)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน