กว่างซีสนใจพัฒนา “อุตสาหกรรมประมง และผลิตภัณฑ์น้ำทะเลลึก” โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
3 Mar 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : กว่างซีและไต้หวันยึดหลักความร่วมมือที่ให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยกว่างซีหวังอาศัยไต้หวันพัฒนาอุตสาหกรรมประมงและทะเลน้ำลึก ขณะที่ไต้หวันหวังยืมแรงกว่างซีรุกตลาดอาเซียน
คณะผู้แทนเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เดินทางไปยังไต้หวัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมระหว่างสองพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
(22 ก.พ.57) กลุ่มผู้แทนกรมการแพทย์ปศุสัตว์และประมงเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Animal Husbandry and Fishery Bureau, 广西水产畜牧兽医局) เดินทางไปยังเมืองฮวาเหลียน (Hua Lian City, 花莲市) ของไต้หวัน เพื่อศึกษาดูงานด้านสมุทรศาสตร์ (อุตสาหกรรมประมงและการผลิตน้ำดื่มจากใต้ทะเลลึก) และได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนเชิงลึกร่วมกับสมาคมประมงและผู้ประกอบการประมงท้องถิ่น
กลุ่มผู้แทนกว่างซี ให้ความสนใจด้านอุตสาหกรรมประมง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำทะเลลึกเป็นอย่างมาก โดยได้ศึกษาแนวคิดและหวังนำประสบการณ์มาประยุกต์ใช้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง
เมืองฮวาเหลียน ตั้่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีกระแสน้ำอุ่นญี่ปุ่น (Kuroshio) ซึ่งเป็นกระแสน้ำอุ่นขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกไหลผ่าน จึงเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางทะเล ในการทำการประมงสามารถจับพันธุ์ปลาอพยพ(จากกระแสน้ำอุ่นเย็น)มากกว่าร้อยชนิด จึงกลายเป็นแหล่งประมงชั้นเลิศ
ความพิเศษข้างต้นส่งผลให้อุตสาหกรรมประมงของเมืองฮวาเหลียนมีการพัฒนาอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประมงโป๊ะเชือก (Setnet Fishering) ตามรายงาน พื้นที่ทำการประมงหนึ่งแห่ง (ฟาร์มประมง) มีมูลค่าการผลิตเฉลี่ยสูงถึง 10 ล้านหยวนต่อปี
นอกจากนี้ เมืองฮวาเหลียนยังมีชื่อเสียงในเรื่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากน้ำทะเลลึก เนื่องจากน้ำทะเลลึกอุดมไปด้วยแร่ธาตุและจุลสารอาหารมากกว่า 70 ชนิด จึงมีคุณสมบัติที่ดีด้านการเสริมสุขภาพ ดังนั้น นอกจากสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่มทะเลลึกชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ เกลือ เครื่องสำอาง และลูกกวาด เป็นต้น
นายหวัง เติง อี้ (Wang Ceng Yi, 王镫亿) ผู้อำนวยการสมาคมประมงเขตพื้นที่ฮวาเหลียนของไต้หวัน กล่าวว่า กว่างซีและเมืองฮวาเหลียนมีสภาพภูมิอากาศที่มีความคล้ายคลึงกัน รวมทั้งการทำปศุสัตว์ การเกษตร และการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ด้วย ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงมีโอกาสทางความร่วมมืออีกมาก
ต่อมาในวันที่ 24 ก.พ.57 คณะผู้แทนเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เข้าร่วม “งานประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมสองฝั่งทะเล” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของฟอร์รั่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมสองฝั่งทะเลเขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำปี 2557 (2014 Guangxi Cross-Strait Economic, Trade and Culture Forum) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองเกาโสง (Kaohsiung City, 高雄市)
ในที่ประชุมฯ ตัวแทนนักธุรกิจไต้หวัน เห็นพ้องว่า กว่างซีมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งติดอาเซียน เป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีทรัพยากรทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์คล้ายคลึงกับไต้หวัน ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และการรุกตลาดอาเซียนของกว่างซีกับไต้หวัน
นายเวย ฉาว อัน (Wei Chao An, 危朝安) รองเลขาธิการพรรคฯ ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวว่า รัฐบาลกลางได้กำหนดให้กว่างซีเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่างของประเทศจีน ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกว่างซีกับไต้หวันให้พัฒนาไปอีกขั้น
“หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเล ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างสองพื้นที่ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนด้านการวัฒนธรรมการศึกษา และการไปมาหาสู่ระหว่างกัน” นายเวย กล่าว
นายไช่ เลี่ยน เซิง (Tsai Lien-sheng, 蔡练生) เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมไต้หวัน (Chinese National Federation of Industries) กล่าวว่า จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งของกว่างซี คือ การเป็นประตูสู่อาเซียน กว่างซีเป็นพื้นที่น่าลงทุนแห่งใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไต้หวันอย่างมาก วิสาหกิจไต้หวันสามารถอาศัยกว่างซีในการรุกตลาดอาเซียน
นาย หวาง อี เฉิง (Huang Yi Cheng, 黄一成) ประธานกรรมการสมาคมประมงไต้หวัน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับนักธุรกิจกว่างซีเกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมประมงรูปแบบใหม่ที่มีฟังก์ชั่นครบวงจรในเมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) และนครหนานหนิงของกว่างซี โดยใช้ระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็น เงินทุนและเทคโนโลยีการแปรรูปสัตว์น้ำโดยการแช่เยือกแข็งจากไต้หวัน
ฟังก์ชั่นโครงการฯ ครอบคลุมด้านการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การแปรรูป คลังสินค้าความเย็น สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการทำการตลาด
นายฉาง หลู หู่ (Chang Lu Hu, 长卢虎) ตำแหน่ง CEO สมาคมกองทุนพัฒนาชนบทไต้หวัน (Taiwan Rural Development Foundation, 台湾农村发展基金) กล่าวว่า ปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่แซงหน้าญี่ปุ่นกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอันดับหนึ่งของไต้หวัน กลายเป็นพื้นที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรายใหญ่อันดับ 1 ของไต้หวัน และไต้หวันเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสินค้าส่งออกไปจีนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรก
สำหรับกว่างซีกับไต้หวัน ด้วยสภาพภูมิอากาศ สายพันธุ์สินค้าเกษตร รวมถึงโครงสร้างภาคการเกษตรที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงมีโอกาสมหาศาลในการดำเนินความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนภาคการเกษตร
ตามรายงาน เม็ดเงินลงทุนและการขยายตัวภาคการลงทุนของไต้หวันในกว่างซีนำเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันตก ปีที่ผ่านมา (ปี 56) มีโครงการลงทุนใหม่ของไต้หวันในกว่างซี จำนวน 68 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนตามสัญญา 1,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
BIC เห็นว่า ความเคลื่อนไหวข้างต้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของกว่างซีอย่างเช่นอุตสาหกรรมประมง เนื่องจากกว่างซีมีปัจจัยพร้อมด้านทำเลที่ตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้ (Beibu Gulf) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”
ดังนั้น อุตสาหกรรมประมงจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักของเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ (โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์น้ำ) ทว่า อุตสาหกรรมประมงในกว่างซียังมีระดับการพัฒนาต่ำกว่าไต้หวัน จึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ของไต้หวัน เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ตนเอง
ความเคลื่อนไหวข้างต้นยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมประมงของกว่างซียังมีช่องว่างอยู่อีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมประมงชั้นนำของโลกในการมาศึกษาโอกาสการค้าการลงทุนในเขตฯ กว่างซีจ้วง เนื่องจากยังมีช่องว่างการพัฒนาอยู่