กว่างซีลั่นขอเวลา 3 ปี ดันธุรกิจแปรรูปทะลุหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
21 Jul 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีได้กำหนดแนวนโยบายเพื่อส่งเสริมการขยายตัวภาคการแปรรูปเพื่อการส่งออก พร้อมสลัดคราบ “มณฑลเกษตร” ก้าวสู่ “มณฑลอุตสาหกรรม”
ช่วง 6 เดือนแรก ปี 57 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการค้าแปรรูปรวม 24,580 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 80
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีได้กำหนดตัวเลขเป้าหมายไว้ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2559) การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกของกว่างซีจะมีมูลค่าทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2556) และตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2561) มูลค่าการค้าแปรรูปจะขยายสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ
แนวนโยบาย 5 ประการ เพื่อการส่งเสริมการค้าต่างประเทศภาคการแปรรูปเพื่อการส่งออก มีดังนี้
หนึ่ง การสนับสนุนเชิงนโยบายบนแนวทางการส่งเสริมให้ทุกพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมการแปรรูป การสนับสนุนธุรกิจการค้าแปรรูปรุกตลาดต่างประเทศ การยกระดับมาตรฐานการอำนวยความสะดวกด้านการค้าแปรรูป และการพัฒนากลไกส่งเสริมรองรับการค้าแปรรูป
สอง การจัดโซนและแบ่งงานกันทำ เน้นการผสมผสานระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เคลื่อนย้ายเข้ามากับกลุ่มอุตสาหกรรมเด่นของกว่างซี อาทิ อุตสาหกรรมสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ (Information Electronic) ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่มรองเท้าหมวก อาหาร ผลิตภัณพ์กระดาษ
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีกำหนดให้เมือง 4 แห่งของกว่างซีเป็นพื้นที่ฟังก์ชั่นรองรับการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก คือ นครหนานหนิง (ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณาการนครหนานหนิง) เมืองชินโจว (เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจวและนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว-มาเลเซีย) เมืองเป๋ยไห่ (เขตแปรรูปเพื่อการส่งออกเมืองเป๋ยไห่) และเมืองอู๋โจว (พื้นที่สาธิตรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมร่วมกับเมืองจ้าวชิ่งของมณฑลกวางตุ้ง)
สาม การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ดึงดูดการลงทุนในหัวเมืองใหญ่ทางตอนใต้และฝั่งตะวันออกของประเทศ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพด้านการแปรรูปเพื่อการส่งออก
สี่ การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น การสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับวิสาหกิจด้านการแปรรูปต่างพื้นที่ที่เข้ามาจัดตั้งกิจการในกว่างซี (ค่าโลจิสิติกส์ ค่าเช่าอาคารคลังสินค้า ค่าฝึกอบรมพนักงาน) การสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดใหญ่สร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย การสร้างหรือควบรวมแบรนด์ดังต่างประเทศ และการกำหนดคุณสมบัติและโควต้าสินค้านำเข้าส่งออกให้เป็นพิเศษ
ห้า การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร (ระหว่างวิสาหกิจ สำนักงานศุลกากร และสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค) การพัฒนาเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศแบบประจำ การพัฒนารูปแบบงานขนส่งร่วมและระบบโลจิสติกส์ที่มีความสะดวกรวดเร็ว (ระหว่างเรือ+รถไฟ+รถบรรทุก) การพัฒนาระบบงานศุลกากรภายใต้นโยบายการรวมกลุ่มเมือง (Urban Integration) ระบบงานศุลกากรแบบไร้เอกสาร และระบบผ่านพิธีการศุลกากรแบบนัดล่วงหน้า 24 ชั่วโมง