กว่างซีร้องขอให้ส่วนกลางจัดเต็มนโยบายพัฒนาชายแดน หากสำเร็จ กองทัพมดมีเฮ
5 Mar 2013หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : นโยบายให้สิทธิประโยชน์แก่พื้นที่ชายแดนควรได้รับการขยายให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ หนึ่งในข้อเสนอของผู้แทนกว่างซีต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมือง และสภาผู้แทนประชาชนจีน
ในการประชุม 2 สภาข้างต้น ผู้แทนกว่างซีที่เข้าร่วมประชุมได้นำเสนอข้อคิดเห็นหลายประการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง
นายเผิง จาว (Peng Zhao, 彭钊) ได้นำเสนอข้อคิดเห็นให้ขยายนโยบายพิเศษไปทั่วพื้นที่ชายแดน โดยไม่จำกัดเฉพาะเขตทดลองการเปิดสู่ภายนอกเมืองตงซิง (กว่างซี) และเมืองรุ่ยลี่ (ยูนนาน) และเขตคลังสินค้าฯ เมืองผิงเสียงเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน และขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่พื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน
ในการประชุมฯ ยังมีการยกประเด็นสิทธิประโยชน์การค้าของชาวชายแดน โดยเสนอให้รัฐบาลกลางขยับเพดานมูลค่าสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ได้รับการยกเว้นภาษีของชาวชายแดน
ภูมิหลังของข้อเสนอดังกล่าว คือ เมื่อปี 2551 รัฐบาลกลางได้ประกาศปรับปรุงนโยบายกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ชายแดน โดยชาวชายแดนสามารถนำสินค้าในชีวิตประจำวันผ่านจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนได้ต่อวันต่อคนไม่เกิน 8,000 หยวน (จากเดิม 1,000 หยวนต่อวันต่อคน)
ทว่า การขยายตัวของการค้าบริเวณจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกณฑ์ยกเว้นการชำระภาษีสำหรับมูลค่าสินค้าไม่เกิน 8,000 หยวนไม่เพียงพอ ไม่ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง อันจะปัจจัยขัดขวางการพัฒนาของตลาดการค้าชายแดน
เมื่อเปรียบเทียบกับการที่รัฐบาลกลางได้ประกาศปรับเกณฑ์การชำระภาษีธุรกิจ นายเผิงและสมาชิกบางส่วน เห็นว่า เกณฑ์ยกเว้นภาษีฯ สำหรับชาวชายแดนควรจะมีการขยับขึ้นเป็น 32,000 หยวนต่อวันต่อคน (หรือ ประมาณ 1.6 แสนบาทต่อวันต่อคน)
ประเด็นข้อเสนออีกประการ คือ การยกระดับ “พื้นที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนตงซิง-หม่งก๋าย” เป็นโครงการความร่วมมือระดับประเทศ (สถานะ ณ ปัจจุบัน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลระดับท้องถิ่นเท่านั้น) เพื่อขอรับนโยบายสนับสนุนระดับชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบสาธาณูปโภค การค้า การลงทุน และอื่นๆ ได้รับการพัฒนารวดเร็วยิ่งขึ้น
BIC เห็นว่า หากข้อเสนอข้างต้นผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐบาลกลางแล้วจะช่วยให้พื้นที่ชายแดนตะวันตกของจีน (กว่างซี ยูนนาน) เปรียบเสมือน“เหมืองทอง” เพราะนโยบายพิเศษจากส่วนกลางจะช่วยดึงดูดให้ผู้ประกอบการ/นักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศจะหันมาให้ความสนใจมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย แม้ว่านโยบายบางส่วนอาจดูไกลตัว หรือไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาหาช่องทาง เพื่อพัฒนาการค้าการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากไทยเรามีเส้นทางอาร์ต่างๆ เชื่อมต่อสู่พื้นที่ชายแดนกว่างซี (และยูนนาน) อยู่แล้ว
ทั้งนี้ BIC จะติดตามสถานการณ์ความคืบหน้า เพื่อนำมาประชาสัมพันธ์ในโอกาสแรกต่อไป