กว่างซีย้ำจุดยืน ชูป้ายเสาหลัก “มณฑลเกษตร(แปรรูป)” ของจีน

28 Oct 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีให้การส่งเสริม อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือในการทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ระหว่างนักลงทุนกับเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อปฏิรูปและสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างอุตสาหกรรมเกษตรในมณฑล

กรมการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Agricultural Department, 广西农业厅) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของกว่างซี

ข้อมูลพบว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรของกว่างซีมีมูลค่ารวมมากกว่า 2 แสนล้านหยวน มีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี มูลค่าการผลิตคิดเป็น 1/4 ของมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งมณฑล

วิสาหกิจขนาดใหญ่ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรในกว่างซีมีจำนวนมากกว่า 1,600 ราย ในจำนวนนี้ เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ 31 ราย ระดับมณฑล 216 ราย และระดับเมืองอีกพันกว่าราย

โครงสร้างอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรแปรรูปของกว่างซี ประกอบด้วย

หนึ่ง อุตสาหกรรมอาหาร อาทิ  อ้อย น้ำมันพืช ผลไม้ พืชผัก ปศุสัตว์และสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

สอง อุตสาหกรรมป่าไม้ อาทิ เยื่อกระดาษและกระดาษ ไม้กระดาน และผลิตผลพลอยได้จากป่าไม้

และสาม อุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆ เช่น การแปรรูปยาสมุนไพรจีนสมัยใหม่

แนวทางการพัฒนาธุรกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรของวิสาหกิจในกว่างซี มีดังนี้

หนึ่ง ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจที่เรียกว่า เกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บริษัท+แหล่งผลิต+เกษตรกร / บริษัท+สหกรณ์+เกษตรกร / บริษัท+ฟาร์มขนาดใหญ่+เกษตรกร / สมาคม+บริษัท+เกษตรกร

สอง พัฒนารูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ กล่าวคือ การจัดตั้งกิจการในลักษณะของห้างหุ้นส่วน โดยที่เกษตรกร(ที่ไม่มีเงินทุน)สามารถลงทุนโดยใช้ที่ดิน และแบ่งจำนวนหุ้นให้กับเกษตรกร และมีการปันผลตามจำนวนหุ้น

และสาม ผลักดันกลไก การประกันราคาขั้นต่ำ สำหรับการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา และมีการปันผลกำไรรอบสองให้แก่เกษตรกรตามจำนวนหรือมูลค่าซื้อขาย ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว (นอกเหนือจากผลกำไรที่ได้จากขั้นตอนการผลิต)

แนวทางข้างต้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรของกว่างซีได้อย่างมาก

ในแง่ของวิสาหกิจ ช่วยให้ธุรกิจมีแหล่งผลิตที่แน่นอน สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ล่วงหน้า ลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนด้านราคาและปัจจัยการลงทุน รวมทั้งสามารถควบคุมมาตรฐานในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ

ในแง่ของเกษตรกรผู้ผลิต ช่วยให้มีตลาดจำหน่ายผลผลิตและรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน ช่วยลดต้นทุนทางการตลาดและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดสินค้าเกษตร และมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ระบบบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิสาหกิจด้านการเกษตรของไทยที่กำลังมองหาแหล่งลงทุนใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่ จำเป็นต้องศึกษาจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันมากพอสมควร ตลอดจนเทรนด์การพัฒนาธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งเชื่อว่า…การทำธุรกิจในจีนคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณ(ผู้พร้อม)เป็นแน่!!!

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน