กว่างซีผุด “เขตรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมภาคตะวันออก” หวังเป็นแม่เหล็กใหม่ดึงดูดนักลงทุนชั้นนำ

20 Mar 2013

เว็บไซต์รวมข่าว เขตฯ กว่างซีจ้วง: เมืองโซนตะวันออกกว่างซีพร้อมเป็นเขตรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก เน้นอุตสาหกรรมไฮเทคเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไทยได้โอกาสเป็น Supplier เติมเต็มห่วงโซ่การผลิต

หลังพัฒนามาเกือบถึงจุดอิ่มตัวจนเริ่มเข้าสู่ยุคผลัดใบ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมบางส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ตอนกลางและตอนในของประเทศแล้ว โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในมณฑลที่ประกาศตัวเป็นเขตรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมดังกล่าว

ผู้นำ 4 เมืองโซนตะวันออกของกว่างซีซึ่งวางแผนเป็นเขตรองรับอุตสาหกรรมนี้เห็นร่วมกันว่า การพัฒนาเขตรองรับอุตสาหกรรมฯ จากภาคตะวันออกจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนชั้นนำของกว่างซีในอนาคต

 

วางฐาน กำหนดนโยบาย

กว่างซีมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นด้านที่ตั้งซึ่งกลายเป็นจุดแข็งของกว่างซีในการเป็นพื้นที่รองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีเพียงกว่างซีมณฑลเดียวที่เป็นทางเลือกในการย้ายฐานอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก ปัจจุบันหลายมณฑลต่างก็กำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงโอกาสดังกล่าว

นายหลี่ หนิง โป (Li Ning Po, 李宁波) นายกเทศมนตรีเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) กล่าวว่า การจะเป็นเขตรองรับการย้ายฐานฯ ได้นั้น ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก ลำดับต่อมาต้องศึกษาทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาของอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เพื่อเตรียมแผนงานให้สอดคล้อง

และสุดท้ายต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้อ อาศัยจุดเด่นของตำแหน่งที่ตั้ง บรรยากาศการลงทุน บริการและนโยบายพิเศษดึงดูดอุตสาหกรรมให้เข้ามา

         

ชูจุดเด่นสร้างแรงดึงดูดเฉพาะ

การจะเป็นตลาดรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกได้นั้น นอกจากจะต้องมีฮาร์ดแวร์ (โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค) และซอฟต์แวร์ (หลักปฏิบัติและนโยบายพิเศษสนับสนุน) ที่สมบูรณ์แล้ว ยังต้องหาจุดแข็งของตัวเองเพื่อสร้างแรงดึงดูดเฉพาะตัว

นายหยาง เหอ หรง (Yang He Rong, 杨和荣) นายกเทศมนตรีเมืองหลายปิน (Laibin City, 来宾市) กล่าวว่า ต้องใช้จุดแข็งและความได้เปรียบของตัวเอง เช่น ทรัพยากร ตำแหน่งที่ตั้ง ท่าเรือต่างๆ มาดึงดูดให้ผู้ประกอบการย้ายผลิตเข้ามาตั้ง

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

การจะพัฒนาเขตรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการวางแผน เช่น อุตสาหกรรมอลูมิเนียม โลหะมีสีจะบุกเบิกอย่างไร ต้องวางแผนให้ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำให้ชัดเจน จากนั้นจึงใช้แผนการดังกล่าวดึงดูดและจับคู่ธุรกิจ

         

เปิดทางเลือกให้ยืดหยุ่น

การรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมเป็นโจทย์ใหญ่ อุตสาหกรรมใดที่ควรและไม่ควรดึงดูดให้เข้ามา ควรต้องพิจารณาอย่างยืดหยุ่นโดยอิงเงื่อไขของพื้นที่เป็นหลัก  

นายจ้าว เต๋อ หมิง (Zhao De Ming, 赵德明) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเฮ่อโจว (Hezhou City, 贺州市) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเฮ่อโจวเน้นอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเป็นหลัก

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเกษตรก็เป็นสาขาหนึ่งที่เมืองกำลังสนใจ เนื่องจากการเป็นสวนหลังบ้านของมณฑลกวางตุ้ง ประกอบกับอุตสาหกรรมเกษตรในเขตภูมิภาคกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊ากำลังต้องการหาพื้นที่เพื่อย้ายฐานผลิต

นายจู เสว ชิ่ง (Zhu Xue Qing, 朱学庆) นายกเทศมนตรีเมืองอู๋โจว (Wuzhou City, 梧州市) กล่าวว่า เขตรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมใช่ว่าจะรับอุตสาหกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข ต้องเลือกอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงและสามารถเป็นตัวแทนกำลังการผลิตสมัยใหม่ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนา สอดคล้องกับโครงสร้างอุตสาหกรรม และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

BIC ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กว่างซีกำลังผลักดันเมืองในภาคตะวันออก (เมืองอู๋โจว ยวี่หลิน กุ้ยก่าง เฮ่อโจว หลายปิน) ให้เป็นเขตรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมจากมณฑลภาคตะวันออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักและใช้ทรัพยากรสูง

การลงทุนในเขตรองรับอุตสาหกรรมฯ ของกว่างซี นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการพัฒนาภาคตะวันตก นโยบายเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้แล้ว การมีที่พื้นที่ดังกล่าวติดกับมณฑลกวางตุ้งและใกล้กับฮ่องกง มาเก๊าถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญ

ขณะเดียวกัน ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูด BIC เห็นว่า ธุรกิจที่สนใจจะมาลงทุนในเขตรองรับอุตสาหกรรมของกว่างซีควรเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการผลักดันของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ วัสดุใหม่เป็นต้น หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สินแร่

นอกจากนี้ การเป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อป้อนให้แก่อุตสาหกรรมที่ย้ายฐานเข้ามาก็ยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสของธุรกิจไทยที่น่าสนใจ ดังนั้น ธุรกิจไทยควรเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อรอจังหวะเข้าสู่ตลาด

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน