กว่างซีปลุก “เส้นทางสายไหม” ธุรกิจไทยเห็นโอกาสอะไรจาก “ส่วนขาด” ในอุตสาหกรรมหม่อนไหมกว่างซี??

16 Oct 2013

สำนักข่าวซินหัว-นครหนานหนิง : ปัจจุบัน กว่างซีกลายเป็น ฐานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่ใหญ่สุดของประเทศจีนแทนที่มณฑลเจ้อเจียงแล้ว

จากข้อมูลปี 2555 กว่างซีมีพื้นที่ปลูกหม่อน 2.627 ล้านหมู่จีน (ราว ๆ 1.09 ล้านไร่) ได้ผลผลิตรังไหม 315,700 ตัน และได้ผลผลิตเส้นไหม 28,800 ตัน นำเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีนทุกรายการ

อย่างไรก็ตาม กว่างซีถือว่าอยู่ในวัยเริ่ม ตั้งไข่ บนเส้นทางสายไหม เพราะถึงแม้ว่ากว่างซีจะมีความได้เปรียบด้านทรัพยากร ทว่า กว่างซียังขาดประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงความได้เปรียบด้านทรัพยากรเป็นความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรม (อย่างมณฑลเจริญทางภาคตะวันออก)

หรือจะพูดให้ภาพชัดเจนก็คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีเป็น อุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่เน้นการผลิตวัตถุดิบเป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการแปรรูปเชิงลึก ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง และมีโอกาสทางการตลาด

นายฉี กว่างจวิน (Qi Guang Jun, 祁广军) หัวหน้าศูนย์แนะแนวการผลิตหม่อนไหมกว่างซี (广西蚕业生产指导总站) ยกตัวอย่างว่า รังไหมแห้ง 2 กิโลกรัม ขายได้ราคาประมาณ 80 หยวน ทว่า หากผลิตเป็นผ้าห่มไหม 2 กิโลกรัมจะขายได้ในราคามากกว่า 1,500 หยวน

ตัวอย่างข้างต้นนับเป็นเพียงการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น หากสามารถทำการแปรรูปเชิงลึกเป็นผลิตภัณฑ์ไหมชั้นดีแล้วจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกมากทีเดียว

นายหลาน ซู่ซือ (Lan Shu Si, 兰树思) ประธานสมาคมไหมกว่างซี (广西茧丝绸行业协会) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน กว่างซีมีวิสาหกิจด้านการแปรรูปรังไหมทั้งสิ้น 88 ราย แต่มีวิสาหกิจที่มีศักยภาพการผลิตแพรไหมเพียง 8 รายเท่านั้น

ส่วนวิสาหกิจด้านการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ยิ่งขาดแคลนหนักไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการทอ การย้อมสี การตัดเย็บ และการค้าแพรไหม

วิสาหกิจผลิตแพรไหม(แท้) 8 รายข้างต้นมีกำลังการผลิตต่อปีความยาวมากกว่า 30,000 กิโลเมตร ขณะนี้เริ่มมีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น อิตาลี อินเดีย ไทย และอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ในแต่ละปีมีการส่งออกเส้นไหมทั้งทางตรงและทางอ้อมน้ำหนักกว่า 2,000 ตัน ทว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากแพรไหมแทบจะไม่มี

จึงกล่าวได้ว่า การแปรรูปเชิงลึกและการสร้างแบรนด์ เป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมหม่อนไหมของกว่างซี สินค้าเชิงวัตถุดิบที่ผลิตได้ในกว่างซีต้องส่งไปโรงงานย้อมในต่างมณฑล (มณฑลซานตง และมณฑลเจ้อเจียงเป็นหลัก)

ปัจจุบัน เมืองหลิ่วโจว และนครหนานหนิงได้ทยอยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแพรไหมขึ้น เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก ขณะนี้มีวิสาหกิจแพรไหมจากมณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลซานตงตบเท้าเข้ามาลงทุนจัดตั้งกิจการทั้งในรูปทุนเดียวและการร่วมทุนแล้วหลายราย

นอกจากนี้ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทางการกว่างซีพร้อมให้การสนับสนุนแผนงานพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคในอุตสาหกรรมหม่อนไหมและการผลิตแพรไหม ยกระดับคุณภาพ สร้างแบรนด์ การพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแพรไหม การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไหม การพัฒนาผลิตภัณฑ์พลอยได้จากหม่อนไหม

BIC เห็นว่า สิ่งที่ขาดหาย ในอุตสาหกรรหม่อนไหมของกว่างซีนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยในการเติมเต็มส่วนขาดดังกล่าว โดยเฉพาะด้านการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม ซึ่งเป็น จุดแข็ง ของไทยมาโดยตลอด

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน