กว่างซีปรับโฉม “การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออก” – ฤ จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย

9 Jun 2014

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : “ทำเลที่ตั้ง นโยบายส่งเสริมการลงทุน และทรัพยากรแรงงาน กลายเป็นกุญแจสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ช่วยส่งเสริมดึงดูดธุรกิจแปรรูปเพื่อการส่งออก (Export Processing) จากทั่วโลก

นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า ปี 57 จะเป็นปีแห่งฝันร้ายของธุรกิจแปรรูปเพื่อการส่งออก (Export Processing) ในประเทศจีน จากปัจจัยเชิงลบ เช่น อุปสงค์ทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศลดลง ต้นทุนแรงงานที่พุ่งสูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้ตัวเลขการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกของทั้งประเทศในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ หดตัวลงร้อยละ 4.2

ทว่า สถานการณ์การค้าเพื่อการแปรรูปของเขตฯ กว่างซีจ้วงกลับมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีสวนทางกับกระแสเศรษฐกิจทั้งประเทศ โดยในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 76.2 และมีผลต่อการขยายตัวภาคการค้าระหว่างประเทศร้อยละ 12.1 จุด

เจ้าหน้าที่กรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Commerce Department, 广西商务厅) ให้ข้อมูลว่า พัฒนาการของการค้าเพื่อการแปรรูปของกว่างซีมีการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้นในระยะเริ่มแรก (เช่น ธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม น้ำมันพืช และเครื่องหนัง) ไปสู่การผสมผสานระหว่างการผลิตที่ใช้เงินทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นกับการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ปัจจุบัน โครงสร้างการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกของกว่างซี พบว่า ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง และกลายเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างสินค้าส่งออกของกว่างซี

สำนักงานศุลกากรนครหนานหนิง เปิดเผยว่า สัดส่วนภาคการส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 และ 43.9 ของการค้าแปรรูปทั้งมณฑล และมีผลต่อการขยายตัวภาคการส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 11.6 และ 38.7 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ทางการกว่างซีตั้งเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมการค้าแปรรูปให้มีมูลค่าทะลุ 1 หมื่นล้านหยวนภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากปี 57 เป็นต้นไป

พื้นที่ที่น่าลงทุนสำหรับภาคธุรกิจแปรรูปเพื่อการส่งออกในกว่างซี ได้แก่

หนึ่ง เมืองเป๋ยไห่ (Beihai City, 北海市) หนึ่งในเมืองท่าสำคัญรอบอ่าวเป่ยปู้ ปัจจุบัน มีเขตแปรรูปเพื่อการส่งออก (Beihai Export Processing Zone, 北海出口加工区) และได้รับการกำหนดตำแหน่งเป็น ซิลลิคอน วัลเล่ย์แห่งอ่าวเป่ยปู้ (ฐานอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์)

ปัจจุบัน มีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่หลายรายเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในเมืองเป๋ยไห่ อาทิ บริษัท Lite On (建兴电子) ผู้ผลิต DC ROM Drive ยักใหญ่อันดับสองของโลกจากไต้หวันที่ย้ายสายการผลิต DC ROM Drive เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คจากนครกว่างโจวมายังเมืองเป๋ยไห่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งย้ายสายการผลิต Blu-Ray Drive ของเครื่องเล่นเกมส์ไมโครซอฟท์เมื่อปีก่อน

ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ผู้ผลิตในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและแม่น้ำแยงซีจำนวนมากต้องประสบปัญหาผลประกอบการ ในขณะที่ยอดการนำเข้าส่งออกของบริษัท Lite On เมืองเป๋ยไห่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 58 ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิต DC ROM Drive เพียงไม่กี่รายทั่วโลกที่มีผลกำไร

เจ้าหน้าที่บริษัท Lite On กล่าวถึงเหตุผลที่บริษัทฯ เลือกเมืองเป๋ยไห่เป็นสถานที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ เนื่องจากเมืองเป๋ยไห่มีจุดแข็งในด้านทรัพยากรแรงงาน ทำเลที่ตั้ง นโยบายส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาบรรยากาศการลงทุน (ในแง่ของ Soft Environment)

บริษัทฯ สามารถพัฒนาสายการผลิตโดยใช้สิทธิประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก (Western Development) และส่งออกสินค้าที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำไปยังอาเซียน รวมถึงประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวว่า การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกในกว่างซียังมีโอกาสเติบโตได้สูง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายงานต่อบริษัทแม่ โดยหวังว่าในอนาคตจะมี(ย้าย)โครงการลงทุนเข้ามาในเมืองเป๋ยไห่เพิ่มขึ้น

สอง นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วง ปัจจุบัน มีบริษัท Foxconn (富士康) ผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์ไอทีชื่อดังระดับโลกเข้าลงทุนในนครหนานหนิงในชื่อบริษัท Fugui Precision Industry (富桂精密工业有限公司) (นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ บริษัทฯ มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 86)

เจ้าหน้าที่บริษัท Foxconn กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการลงทุนในนครหนานหนิง คือ การปั้นให้นครหนานหนิงเป็นฐานการวิจัยพัฒนาและศูนย์ปฏิบัติการด้านระบบโครงข่ายโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลก และต้องการอาศัยจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของนครหนานหนิงสู่อาเซียน เพื่อสร้างศูนย์วิจัยและฐานการผลิตระดับเวิร์ลคลาส โดยปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย (ลิงค์ข่าว)

เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวว่า ปีนี้ ศูนย์วิจัยฯ วางแผนทุ่มเงินลงทุนมากกว่า 150 ล้านหยวนสำหรับโครงการวิจัยมากกว่า 10 โครงการ คาดหมายว่า สิ้นปีหน้า (ปี 58) จะมีเจ้าหน้าที่นักวิจัยถึง 1,000 คน

ในด้านรูปแบบการดำเนินธุรกิจมีการพัฒนาครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การออกแบบสร้างสรรค์ การนำเข้าวัตถุดิบ ไปจนถึงการแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยบริษัทฯ พร้อมผลักดันการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตของกว่างซีจาก “Made in Guangxi” สู่ “Created in Guangxi”

นายเหยา หัว (Yao Hua, 姚华) รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ปริมาณ สถาบันสังคมศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วง (Institute of Quantitative Economics of Guangxi Academy of Social Science, 广西社会科学院数量经济研究所) ชี้ว่า กว่างซี(จีน)กำลังสูญเสียความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน

ดังนั้น ผู้ผลิตด้านการแปรรูปจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตเป็นหลัก ต่อยอดสู่การวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในสายธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์การค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกของกว่างซีกำลังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทว่า หากพิจารณาในเชิงมูลค่าการค้าต่อยอดการค้ารวมถือว่ายังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ (เพียงร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศ)

อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบการค้าดังกล่าว มีดังนี้

หนึ่ง ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างสูง และเที่ยวเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์โดยตรงสู่ต่างประเทศยังมีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลอย่างมณฑลกวางตุ้ง ทำให้ผู้ผลิตจำนวนมากยังต้องอาศัยท่าเรือในมณฑลกวางตุ้งเพื่อการนำเข้าส่งออก ทำให้ต้นทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น

สอง สภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมปลายน้ำภายในพื้นที่ยังเติบโตค่อนข้างช้า ซึ่งไม่สามารถตอบสนองหรือรองรับความต้องการของผู้ผลิตในพื้นที่ได้ ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องสั่งซื้อหรือนำเข้าวัตถุดิบโดยส่วนใหญ่จากต่างพื้นที่

สาม ปัญหาแรงงาน (จ้างงานยาก ลาออกบ่อย) โดยเฉพาะกับผู้ผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยผลการสำรวจพบว่า ธุรกิจภาคการแปรรูปเพื่อการส่งออกรายใหญ่ จำนวน 27 รายจากทั้งหมด 37 รายต้องประสบปัญหาดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกัน

ทุกปัญหามีทางออก…. ทางการกว่างซีไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาข้างต้น ขณะนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการค้าเพื่อการแปรรูป อาทิ

(1) การจัดตั้งกองทุนเงินอุดหนุนให้กับเส้นทางเดินเรือจากอ่าวเป่ยปู้สู่ต่างประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์

(2) การจัดกิจกรรมโรดโชว์ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและปากแม่น้ำแยงซี เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากพื้นที่ดังกล่าว

และ (3) การพัฒนาระบบงานบริการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน เช่น ระบบไร้เอกสารในพิธีการทางศุลกากร

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตแปรรูปเพื่อการส่งออกเมืองเป๋ยไห่ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.2005 ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นพื้นที่ที่มีการนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดของกว่างซี

ปัจจุบัน นอกจากวิสาหกิจข้างต้นแล้วยังมีวิสาหกิจชั้นนำระดับโลกเข้าจัดตั้งกิจการอีกจำนวนมาก เช่น บริษัท Johnson Electric (德昌电机集团) ผู้ผลิต Micro Motor อันดับหนึ่งของโลกจากฮ่องกง, บริษัท Sunon (建准集团) ผู้ผลิตพัดลมระบายความร้อนขนาดเล็กอันดับหนึ่งของโลกจากไต้หวัน, บริษัท Sanyo ของญี่ปุ่น, บริษัท Ever Bright Group (永昶集团) จากมณฑลกวางตุ้ง และบริษัท HKC (惠科集团) ของเมืองเซินเจิ้น เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน