กว่างซีนำเข้าถ่านหิน “ลดฮวบ” ผลพวงดีมานด์ในประเทศ “ซบเซา”
24 Oct 2013เว็บไซต์ข่าวจีน : ช่วง 3 ไตรมาสแรกปีนี้ (ปี 56) สถานการณ์นำเข้าถ่านหินของกว่างซีมีปริมาณลดลงอย่างมากจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยและราคาถ่านหินภาายในประเทศปรับตัวลดลง
ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กว่างซีมีการนำเข้าถ่านหิน 1,700 กว่าล็อต น้ำหนักมากกว่า 20 ล้านตัน มูลค่าสินค้ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 44.9 , 4.7 และ 14.9 ตามลำดับ
ถ่านหินส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และรัสเซีย
ด่านท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Border, 防城港口岸) และด่านท่าเรือเมืองชินโจว (Qinzhou Border, 钦州口岸) เป็น 2 ด่านสำคัญของกว่างซีที่มีการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ
การนำเข้าผ่านด่านท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง มีจำนวน 1,200 กว่าล็อต น้ำหนักมากกว่า 14 ล้านตัน มูลค่าสินค้า 1,594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 43.2 , 1.2 และ 10.5 ตามลำดับ
ขณะที่ด่านท่าเรือเมืองชินโจวมีการนำเข้า 240 กว่าล็อต น้ำหนักมากกว่า 3.7 ล้านตัน มูลค่าสินค้า 271.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 52.26 , 21.74 และ 34.23 ตามลำดับ
ช่วงที่ผ่านมา การนำเข้าถ่านหินผ่านด่านในกว่างซีพบปัญหาด้านคุณภาพค่อนข้างสูง จากข้อมูลพบว่า มีการตรวจพบถ่านหินนำเข้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 62 ล็อต น้ำหนัก 4.27 ล้านตัน มูลค่าสินค้า 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ่านหินนำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 , 114.5 และ 160 (YoY)
ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ ถ่านหินมีค่าความชื้นสูง ค่าฝุ่นละอองสูง ปริมาณสารระเหยสูง ปริมาณซัลเฟอร์สูง และค่าความร้อนต่ำ
เจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Entry-Exit Inspection and Quarantine: Guangxi: CIQ, 广西出入境检验检疫局) ให้ข้อมูลว่า นับแต่ต้นปีมานี้ สถานการณ์การนำเข้าถ่านหินของกว่างซีใช้รูปแบบการค้าทั่วไป (การค้าสากล) เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าผ่านรูปแบบการค้าชายแดน (กับเวียดนาม) มีปริมาณลดลงอย่างมาก
กล่าวคือ การนำเข้าผ่านรูปแบบการค้าทั่วไป มีจำนวน 290 กว่าล็อต น้ำหนักกว่า 18 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89 ของปริมาณนำเข้าถ่านหินทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 (YoY)
ส่วนการนำเข้าผ่านรูปแบบการค้าชายแดน แม้จะมีจำนวนมากถึง 1,400 กว่าล็อต แต่มีน้ำหนัก 2 ล้านกว่าตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของปริมาณนำเข้าถ่านหินทั้งหมด ลดลงร้อยละ 39.1 (YoY)
ผู้นำเข้าหลักอยู่ในเมืองหลิ่วโจวของกว่างซี เมืองเซี่ยเหมินของมณฑลฝูเจี้ยน และเมืองเฉาโจว (Chaozhou City, 潮州市) ของมณฑลกวางตุ้ง
ภาคธุรกิจที่มีการนำเข้าถ่านหินผ่านด่านในกว่างซี ได้แก่ ผู้ผลิตเหล็ก ธุรกิจพลังงาน และผู้ผลิตไฟฟ้า
เจ้าหน้าที่้ CIQ กว่างซี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณนำเข้าถ่านหินของกว่างซีลดลงค่อนข้างมากเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจภายในกว่างซีเริ่มชะลอตัวลง กอปรกับราคาถ่านหินภายในประเทศปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการถ่านหินหันมาซื้อวัตถุดิบภายในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
อีกทั้งด่านท่าเรือเมืองชินโจวต้องประสบปัญหาถ่านหินล้นสต็อก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเร่งนำเข้ามากจนเกินไปเมื่อปีก่อน (ปี 55)
เจ้าหน้าที่ CIQ ได้ให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการ ดังนี้
1. ส่งเสริมวิสาหกิจภายในประเทศออกไปลงทุนในตลาดถ่านหินต่างประเทศ (ผ่านการลงทุนโดยตรง การร่วมหุ้น หรือการลงนามสัญญาระยะยาว) เพื่อสร้างหลักประกันด้านแหล่งพลังงานให้กับตลาดภายในประเทศ
2. แสดงบทบาทเชิงนโยบายด้านการควบคุมตรวจสอบและกำหนดแนวทาง เพื่อป้องกันและยับยั้งพฤติกรรมการปั่นราคาและการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาถ่านหินตามกระแส
3. กระชับความร่วมมือด้านการค้าถ่านหินในพื้นที่ชายแดน โดยการสร้างกลไกความร่วมมือและบริหารจัดการร่วมกันระหว่างจีนกับเวียดนาม
BIC เห็นว่า ประเทศจีนยังคงมีแนวโน้มการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานถ่านหินจำนวนมากในแต่ละปี ทว่า ถ่านหินเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาปริมาณสำรองภายในประเทศสำหรับเป็นหลักประกันพลังงานในอนาคต ในระยะยาวประเทศจีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างมาก