กว่างซีถกประเด็นร้อน…ปริมาณ “เซเลเนียม” ในผลิตภัณฑ์
28 Apr 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีเร่งสร้างเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาณส่วนผสมแร่ธาตุ “เซเลเนียม” ในตัวสินค้าต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบและปกป้องตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
“เซเลเนียม” (Selenium) เป็นแร่ธาตุ 1 ใน 15 ชนิดที่มีจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ มีประโยชน์ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง และการต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงได้รับการขนามนามเป็น “แร่อายุวัฒนะ”
กว่างซีเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเซเลเนียม และเป็นพื้นที่ที่มีธาตุเซเลเนียมผืนเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีนในปัจจุบัน
จากการสำรวจพบว่า ที่ดินในนครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ (Beihai City, 北海市) เมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) และเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) มีปริมาณแร่ธาตุเซเลเนียมรวมกันมากกว่า 31 ล้านหมู่จีน (ราว 12.9 ล้านไร่)
จากบริบทข้างต้น ช่วง 2-3 ปีมานี้ ทางการกว่างซีจึงมุ่งผลักดันการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร “แร่เซเลเนียมสูง” อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันเริ่มพบเห็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพดังกล่าววางจำหน่ายตามท้องตลาดเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กว่างซียังขาดกลไกควบคุมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งพูดถึงในแง่ของผลิตภัณฑ์เกษตรเซเลเนียมสูงแล้ว ประเด็นดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่น้อย
ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานตรวจสอบคุณภาพและเทคนิคแห่งเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Quality and Technical Supervision Bureau, 广西壮族自治区质量技术监督局) จึงได้ร่างข้อกำหนดว่าด้วยปริมาณส่วนประกอบธาตุเซเลเนียมในผลิตภัณฑ์เกษตรเซเลเนียมสูง (เกณฑ์มาตรฐานระดับท้องถิ่น)
ยกตัวอย่างเช่น “ข้าว” ในร่างข้อกำหนดมีการระบุปริมาณส่วนผสมเซเลเนียมอยู่ระหว่าง 0.15-0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ทำไมต้องไม่ต่ำกว่า 0.15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม? เพราะจะส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าข้าวต่างเคลมว่าข้าวของตนเป็นผลิตภัณฑ์เซเลเนียมสูง ก่อให้เกิดความสันสนปนเป และยากต่อควบคุมบริหารจัดการ
แล้วทำไมต้องกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม?? เพราะจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นส่งผลให้ราคาขายข้าวพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคทั่วไปไม่มีกำลังซื้อ ไม่เป็นผลดีต่อระบบตลาด
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การหันมาใส่ใจรักสุขภาพกำลังเป็น “เทรนด์” ที่กำลังมาแรงในสังคมจีนยุคปัจจุบัน กำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเพื่อ “เลือกสรร” ในสิ่งดีที่สุดสำหรับตัวเองมากขึ้น
แนวโน้มตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในจีนแผ่นดินใหญ่มีกำลังเติบโตได้ดี จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจตลาดจีน ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องศึกษาสภาพตลาดในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– กว่างซีต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร “เซเลเนียมสูง” (11 เม.ย. 2557)
– กว่างซีผลักผลิตภัณฑ์เกษตร เน้นจุดขาย “อายุยืน” ผู้ประกอบไทยเห็นโอกาสอะไร? (20 มิ.ย. 2556)