กว่างซีต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร “เซเลเนียมสูง”
25 Apr 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ปี 56 เป็นต้นมา ทางการกว่างซีเร่งส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตร เน้นต่อยอดให้กับสิ่งที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรในพื้นที่ เช่น “สินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง”
“เซเลเนียม” (Selenium) เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย มีประโยชน์ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง และการต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงได้รับการขนามนามเป็น “แร่อายุวัฒนะ”
ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ขาดแคลนแร่ธาตุเซเลเนียม โดยพื้นที่ 22 มณฑล ประชากรกว่าร้อยละ 72 อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนแร่ธาตุดังกล่าว ทว่า กว่างซีเป็นพื้นที่ที่มีแร่ธาตุเซเลเนียมในดินสูง จึงถูกดึงมาเป็นจุดขาย (Gimmick) ให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรท้องถิ่น
จากการสำรวจตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมาของสำนักงานธรณีวิทยาและแร่เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Geology and Mineral Bureau, 广西地矿局) และกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Environmental Protection Department, 广西环保厅) พบว่า กว่างซีมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเซเลเนียมมากกว่า 21,200 ตร.กม. นับเป็นพื้นที่ที่มีธาตุเซเลเนียมผืนเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบัน
เมืองที่มีแร่ธาตุเซเลเนียมอุดมสมบูรณ์ อาทิ เมืองกุ้ยหลิน เมืองเป๋ยไห่ (Beihai City, 北海市) เมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) และเมืองเหอฉือ (Hechi City, 河池市)
ผลิตภัณฑ์เกษตรที่ได้รับการส่งเสริม อาทิ ข้าว ชาน้ำมัน ใบชา เห็ดหลิงจือ หล่อฮังก๊วย เหล้าบำรุงสุขภาพ ผงรากบัว และขนมชาเขียว เป็นต้น
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เวลา 5 ปี เพื่อสร้างกว่างซีให้เป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุเซเลเนียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีธาตุความอุดมสมบูรณ์ของจีน
ตามรายงาน ขณะนี้มีวิสาหกิจภาคเอกชนเริ่มเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจและชิงลงทุนสร้างฐานพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรที่มี “เซเลเนียม” เป็นจุดขาย ซึ่งสร้างเม็ดเงินรายได้ให้กับกิจการและเกษตรกรในพื้นที่อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ยกตัวอย่างเช่น อำเภอหย่งฝู (Yongfu County, 永福县) ของเมืองกุ้ยหลิน หนึ่งในหมู่บ้านอายุยืนของประเทศจีน และเป็นอำเภอแห่งแรกที่ได้รับการสำรวจพบว่าในพื้นดินเพาะปลูกมีปริมาณธาตุเซเลเนียมอยู่มาก
จากข้อมูลพบว่า พื้นที่เพาะปลูก 3.28 แสนหมู่จีนทั่วอำเภอ (ราว 1.37 แสนไร่) เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณธาตุเซเลเนียมปะปนอยู่ 2.5 แสนหมู่จีน (ราว 1.04 แสนไร่) คิดเป็นร้อยละ 76 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด
จากบริบทข้างต้น ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการค้าข้าว 2 ราย (福寿、迎福米业公司) ได้ร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่รวม 680 ครัวเรือน สร้างฐานสาธิตการผลิตข้าวเซเลเนียมสูงบนเนื้อที่ 3,500 หมู่จีน (ราว 1,458 ไร่)
ผลผลิตข้าวที่ได้สามารถจำหน่ายได้ราคากิโลกรัมละ 11-16 หยวน หากคำนวณว่าพื้นที่หนึ่งหน่วยการผลิต(หมู่จีน)ได้ผลผลิต 500 กิโลกรัม (หรือ ไร่ละ 1,200 กิโลกรัม) เกษตรกรจะมีรายได้ต่อหน่วยการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,500 หยวน (หรือ ไร่ละ 3,600 หยวน)
นอกจากนี้ เกษตรกรในอำเภอยังมีการปลูกหล่อฮังก๊วยเซเลเนียมสูง (กำลังการผลิต 150 ล้านลูก) ผลิตภัณฑ์ส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ และมีการส่งออกไปญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน มูลค่าการผลิตต่อปีมากกว่า 100 ล้านหยวน
อำเภอปกครองตนเองชนชาติเย้า-ปาหม่า (Bama Yao Autonomous County, 巴马瑶族自治县) ของเมืองเหอฉือ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนามเป็น “หมู่บ้านอายุยืนของโลก” ก็มีการตรวจพบว่า ดินและผลผลิตธัญพืชในอำเภอฯ มีส่วนประกอบของธาตุเซเลเนียมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่กว่า 10 เท่าตัว
จุดขาย “เซเลเนียมสูง” ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผลิตภัณฑ์ของอำเภอฯ ยกตัวอย่างเช่น ชาน้ำมัน สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 110-120 หยวน ซึ่งสูงกว่าราคาชาน้ำมันทั่วไปตามท้องตลาด 1.5 เท่า
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ธัญพืชต่าง ๆ ข้าวและข้าวหอมที่ผลิตในอำเภอปาหม่าก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดอยู่บ่อยครั้ง
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ชาวจีนเริ่มหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น อาทิ สินค้าออแกนิกส์ สินค้าปลอดสารพิษ และสินค้าที่มีแร่ธาตสารอาหารสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในหัวเมืองใหญ่ที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางถึงสูง จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาลู่ทางเจาะตลาด(รายมณฑล)ในจีนแผ่นดินใหญ่