กว่างซีตั้ง “เมืองชินโจว” เป็นฐานแปรรูปรังนกนำเข้าจากมาเลเซีย

13 Jan 2014

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : เมืองชินโจวกำลังเร่งผลักดันให้ เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย (China(Qinzhou)-Malaysia Industrial Park, 中马钦州产业) เป็น ฐานการแปรรูปรังนกนำเข้า(จากมาเลเซีย) จากการเปิดเผยของคณะกรรมาธิการบริหารนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย

รังนก เป็นอุตสาหกรรมโอท็อปของมาเลเซีย มีศักยภาพการผลิตปีละประมาณ 200 ตัน คิดเป็นมูลค่าการผลิตมากกว่า 1,000 ล้านหยวน โดยผลผลิตกว่าร้อยละ 70 ถูกส่งมายังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงมาเก๊า

เมื่อ 2 ปีก่อน รังนกจากประเทศมาเลเซีย (รวมถึงอีกหลายประเทศอาเซียน) ถูกระงับการนำเข้าจากปัญหาด้านสุขอนามัย เนื่องจากมีการตรวจพบสารไนเตรทปนเปื้อนในระดับที่เกินมาตรฐาน

ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2555 ในการประชุมผู้นำด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์จีน-อาเซียน ครั้งที่ 3 (ประชุม SPS) สำนักงาน AQSIQ และกระทรวงเกษตรมาเลเซียได้ร่วมลงนามร่วมกันข้อตกลงว่าด้วยข้อกำหนดด้านการตรวจสอบกักกันโรคและสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์รังนกนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย

และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 สำนักงาน AQSIQ ได้ประกาศอนุญาตการนำเข้ารังนกมาเลเซียได้อีกครั้ง

ทางการกว่างซีได้วางตำแหน่งให้ เมืองชินโจว เป็นฐานการแปรรูปรังนกนำเข้า เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีพื้นฐานความพร้อมจากการเป็นที่ตั้งของ เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลมาเลเซีย

ทั้งนี้ ทางการกว่างซีคาดหมายว่า เมืองชินโจว จะก้าวขึ้นเป็นฐานอุตสาหกรรมรังนกแบบครบวงจรทั้งด้านการตรวจสอบ การนำเข้า การผลิต การวิจัยผลิตภัณฑ์ และโลจิสติกส์ และเป็นต้นแบบใหม่ทางธุรกิจในตลาดรังนกจีน

แนวทางปฏิบัติข้างต้น มีดังนี้

หนึ่ง การจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบรังนกและผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพระดับประเทศ ในเมืองชินโจว คาดว่าเปิดใช้งานได้ในปีนี้ (ปี 2557)

สอง การวางแผนจัดตั้ง นิคมแปรรูปผลิตภัณฑ์รังนก และกำหนดให้โครงการดังกล่าวหนึ่งโครงการลงทุนสำคัญ (Key Project) ในเขตนิคมอุตสาหกรมจีน-มาเลย์

สาม การประชาสัมพันธ์ดึงดูดวิสาหกิจนักลงทุนด้านการค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์รังนกนำเข้าให้เข้ามาจัดตั้งกิจการในพื้นที่นิคมดังกล่าว

สี่ การจัดตั้งระบบมาตรฐานการตรวจสอบ และระบบตรวจสอบคุณภาพย้อนกลับ (Trace Back)

BIC ขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดการนำเข้าส่งออกรังนกมายังจีนแผ่นดินใหญ่

ผู้ส่งออกรังนกต้องผ่านการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งชาติจีน (Certification and Accreditation Administration of PR.C., 中国国家认证认可监督管理委员会) หรือ CNCA ตามข้อกำหนดว่าด้วยการบริหารงานจดทะเบียนวิสาหกิจผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ (Provisions on the Administration of the Registration of Foreign Productive Enterprises of Imported Food, 进口食品国外生产企业注册管理规定) และจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน AQSIQ

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์รังนกในมาเลเซียเพียง 8 รายเท่านั้น (จากทั้งหมด 15 รายที่ทางการมาเลเซียได้เสนอชื่อให้สำนักงาน CNCA) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์รังนกสะอาด และมีสิทธิส่งออกรังนกมายังจีนแผ่นดินใหญ่ (ไม่รวมถึงรังนกบรรจุขวด)

ผู้นำเข้า (ผู้รับสินค้า) จะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน CIQ ท้องถิ่นที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งกิจการ

– เอกสารจำเป็นที่ต้องสำแดงต่อศุลกากร อาทิ ใบอนุญาตผ่านการกักกันโรคพืชและสัตว์นำเข้า (The License for Entry Animal and Plant Quarantine, 进境动植物检疫许可证) ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ที่ออกโดยกระทรวงเกษตรมาเลเซีย (Veterinary Health Certificate) ใบรังรองสุขอนามัยที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย (Health Certificate) และต้นฉบับหนังสือรับรองแหล่งกำเนิด (Country of Origin)

– บรรจุภัณฑ์จะต้องแสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน และสอดคล้องกับระเบียบข้อกำหนดว่าด้วยฉลากผลิตภัณฑ์ของทางการจีน (โดยใช้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ) อาทิ ชื่อผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก ชื่อและเลขทะเบียนฟาร์มรังนก ชื่อผู้ผลิต ที่อยู่และเลขทะเบียนผู้ผลิต เงื่อนไขการเก็บรักษา และวันเดือนปีที่ผลิต เป็นต้น และจะต้องระบุรายละเอียดข้างต้นบนใบขนสินค้า

– ผลิตภัณฑ์รังนกนำเข้าต้องเป็นรังนกที่ผ่านการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและขนอ่อนออกหมดแล้ว เป็นรังนกแห้งบริสุทธิ์รวมถึงผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่เหมาะสำหรับการบริโภค

ค่ามาตรฐานสารไนไตรทในรังนกที่พบได้ต้องไม่เกิน 30 ppm (รวมถึงวัตถุหรือสารประกอบ ที่เป็นอันตรายอื่น ๆ)

อย่างไรก็ดี ค่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานที่บังคับใช้ชั่วคราวในปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาค่ามาตรฐานที่เหมาะสม

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน