กว่างซีชูยุทธศาสตร์จับวิสาหกิจไต้หวัน เมื่อไหร่ไทยจะมีลุ้น?
1 Apr 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : คณะผู้นำกว่างซีเตรียมเยือนไต้หวัน พร้อมชูยุทธศาสตร์ดึงดูดนักลงทุนไต้หวันเข้าลงทุนในกว่างซีเพิ่มอีก
นายเผิง ชิง หัว (Peng Qing Hua, 彭清华) ผู้ว่าการเขตฯ กว่างซีจ้วง เตรียมนำคณะเยือนไต้หวันช่วงกลางเดือนเมษายน 56 เพื่อเข้าร่วมงานฟอร์รั่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมกว่างซี-ไต้หวัน ประจำปี 2556
ผลจากนโยบายพิเศษต่างๆ และจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศทยอยเข้ามาจัดตั้งกิจการในกว่างซีเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากฮ่องกงแล้ว ธุรกิจไต้หวันถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเงินทุนนอกแผ่นดินใหญ่รายใหญ่ของกว่างซี
กว่างซีเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันเป็นประจำทุกปี
“ต่อจากนี้ไป กว่างซีจะเน้นดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจไต้หวัน วิสาหกิจไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในกว่างซีไม่มีทางขาดทุน และไม่มีทางเสียใจในภายหลัง” ผู้ว่าการเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าว
กิจกรรมในปีนี้ กว่างซีเน้นดึงดูดการลงทุนในธุรกิจหลายสาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร การก่อสร้างระบบคมนาคม และการแปรรูปเพื่อนำเข้าส่งออก
ตามรายงาน ณ สิ้นปี 55 มีวิสาหกิจไต้หวันเข้าลงทุนในกว่างซี 1,491 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนตามสัญญา 7,207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าเงินลงทุนจริง 4,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วิสาหกิจรายสำคัญ ได้แก่ Foxxcon (富士康集团), Uni-president (统一集团), Admiral Oversea Corporation (冠捷), RT-MART (大润发), Stella International Holdings Limited (九兴控股), Want-want (旺旺), Master Kang (康师傅集团) เป็นต้น
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในรอบ 2-3 เดือนมานี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้พยายามยกประเด็นการออก “แพกเกจพิเศษสำหรับผู้ประกอบการอาเซียน” ต่อหน่วยงานภาครัฐของกว่างซีในโอกาสต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอาเซียน รวมถึงไทย มาทำธุรกิจในกว่างซีได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
ในเบื้องต้น ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐของกว่างซีที่กงสุลใหญ่ฯ หยิบยกข้อเสนอว่าด้วยแพกเกจฯ ขึ้นหารือด้วย เห็นประโยชน์ของการมีแพกเกจดังกล่าว และรับจะผลักดันตามขอบเขตอำนาจที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอพร้อมความเห็นให้รัฐบาลกว่างซี
ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า การพิจารณาคงต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากมีหลายหน่วยงานของจีน ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง มณฑล และระดับเมือง เกี่ยวข้องกับมาตรการที่ระบุไว้ในแพกเกจฯ
BIC เห็นว่า กว่างซีเป็นพื้นที่น่าลงทุนใหม่ของวิสาหกิจ เนื่องจากพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของจีนใกล้ถึงจุดอิ่มตัว วิสาหกิจต่างๆ จึงเริ่มเคลื่อนย้ายทุนมายังฝั่งตะวันตกของประเทศซึ่งยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีก
ดังนั้น หากธุรกิจไทยที่มีประเมินว่าตนเองมีศักยภาพความพร้อมและมองเห็นโอกาสจากการลงทุนในพื้นที่ที่ยังไม่อิ่มตัว กว่างซีก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– สถานกงสุลใหญ่ฯ เสนอให้ทางการกว่างซีออกแพกเกจพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการอาเซียน (29 มีนาคม 2556)