กว่างซีชูกรอบ Pan Beibu-Gulf กระตุ้นความร่วมมือจีน-อาเซียน

15 May 2014

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : ทางการกว่างซีสนับสนุนความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติสมาชิกรอบอ่าวเป่ยปู้ โดยหวังอาศัยกรอบดังกล่าวเป็น ยากระตุ้นความร่วมมือในกรอบใหญ่จีน-อาเซียนสู่ ทศวรรษแห่งเพชร(Diamond Decade)

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้(Pan Beibu-Gulf Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่เกิดขึ้นใหม่ภายในกรอบ 10+1 (จีนกับอาเซียน)



สมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ประกอบด้วย 3 มณฑล (เขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลไห่หนาน) กับ 7 ประเทศเพื่อนบ้าน (ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย)

แนวคิดดังกล่าวได้รับการเสนอโดยประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) และได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำให้กรอบแนวคิดได้รับการพัฒนาสู่แนวทางการปฏิบัติ และแนวทางการปฏิบัติมีความลึกซึ้งมากขึ้น

ทุกฝ่ายได้เห็นชอบผ่าน กรอบยุทธศาสตร์แผนความร่วมทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ระหว่างจีนกับอาเซียน (Roadmap for China-ASEAN Pan BeibuGulf Economic Cooperation (Strategic Framework)) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและขยายสาขาความร่วมมือและการผลักดันการสร้าง เส้นทางสายไหมทางทะเล(แห่งศตวรรษที่ 21)และนำพาจีนและอาเซียนก้าวสู่ ทศวรรษแห่งเพชร

หลายปีที่ผ่านมา จีน(กว่างซี)และชาติสมาชิกมีการพัฒนาความร่วมมือในหลายสาขา อาทิ ท่าเรือและโลจิสติกส์ การเงิน และการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะการพัฒนา เส้นทาง(ระเบียง)เศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์ (Nanning-Singapore Economic Corridor) ที่เห็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และแผนงาน เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ที่ได้เริ่มดำเนินการ(ศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดพื้นที่จัดตั้ง)แล้ว



อนึ่ง
ในการประชุม ASEAN-China Summit ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนตุลาคม 2556 นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนกำลังก้าวข้ามจาก ทศวรรษแห่งทอง (Golden Decade)” ไปสู่ ทศวรรษแห่งเพชร (Diamond Decade)

นายหลี่ กล่าวว่า ภายในปี 2563 ทั้งสองฝ่ายจะมีมูลค่าการค้ารวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนสะสมระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีนัยสำคัญว่าในช่วง 7-8 ปีข้างหน้าจะมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

นายหลี่ เหยียน เฉียง (Li Yan Qiang, 李延强) รองผู้อำนวยการสามัญประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหารงานวางแผนและก่อสร้างเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (Office of Guangxi Beibu Gulf Economic Zone Planning and Construction Management Commission, 广西北部湾经济区规划建设管理委员会办公室) ให้ข้อมูลว่า

กว่างซีได้ดำเนินการวางแผนและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี เพื่อผลักดันความร่วมมือและการพัฒนารอบอ่าวเป่ยปู้ โดยเน้นการก่อสร้างท่าเรือและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลในกลุ่มเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ (นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองชินโจว และเมืองฝางเฉิงก่าง)

ทั้งนี้ ทางการกว่างซีตั้งเป้าหมายว่าจะปลุกปั้นให้เขตเศรษฐกิจแห่งนี้ก้าวขึ้นเป็น ฐานโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค” “ฐานธุรกิจการค้า” “ฐานการผลิตและแปรรูป และ ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ ระหว่างจีนกับอาเซียน

นอกจากนี้ ในฐานะ สะพาน เชื่อมความร่วมมือจีน-อาเซียน กว่างซีพร้อมใช้รูปแบบความร่วมมือที่มีความหลากหลาย เพื่อขยายช่องว่างความร่วมมือในภูมิภาค และผลักดันความร่วมมือในสาขานำร่อง อาทิ สมุทรศาสตร์ (กิจการทางทะเล) พลังงาน การท่องเที่ยว รวมถึงการเกษตร ป่าไม้และการประมง และการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมคู่แฝด กับชาติสมาชิกอาเซียน[*]

นายลวี่ อวี๋ เซิง (Lyu Yu Sheng, 吕余生) ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วง(Guangxi Academy of Social Sciences, 广西社科院) กล่าวว่า อีก 10 ปีข้างหน้า สาขาความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายจะค่อย ๆ พัฒนาจากการค้าเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก ไปสู่สาขาอื่น ๆ ที่มีความหลากหลาย อาทิ การลงทุน อุตสาหกรรม การเงิน กิจการทางทะเล และวัฒนธรรม

จีนกับอาเซียนจำเป็นต้องประสานความร่วมมือในเชิงลึก เพื่อสร้างสรรค์ ทศวรรษแห่งเพชร ซึ่งครอบคลุมประเด็นการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การผลักดันความเชื่อมโยง (Connectivity) และการกระชับความร่วมมือด้านการเงิน อุตสาหกรรม และกิจการทางทะเลระหว่างกัน

คำอธิบายเพิ่มเติม



กว่างซีกับชาติสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันพัฒนาความร่วมมือในการจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดน 2 แห่ง คือ

(1) นิคมคู่แฝดจีน-มาเลเซีย คือ เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย (China –Malaysia Qinzhou Industrial Park, 中国马来西亚钦州产业园区) ในเมืองชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง กับเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย (Malaysia – China Kuantan Industrial Park, 马来西亚中国关丹产业园区) ในเมืองกวนตัน (Kuantan) รัฐปะหัง (Pahang) ประเทศมาเลเซีย

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีนายเวิน เจียป่าว นายกรัฐมนตรีจีน และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามและเปิดป้ายเขตนิคมฯ ดังกล่าวในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 8 (ปี 54)

(2) เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าจีน-อินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์จีนเมื่อเดือน ก.ย.50 ถือเป็นอีกหนึ่งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าของจีนในต่างประเทศ และเป็นเขตความร่วมมือแห่งแรกของกว่างซีในต่างประเทศ

เขตความร่วมมือแห่งนี้จัดตั้งโดยรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ Guangxi Statefarm Group (广西农垦集团) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนราว 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนเนื้อที่ 204.53 เฮกตาร์

(3) โครงการจัดตั้ง เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนจีน-เวียดนามจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ (1) เขตความร่วมมือฯ อำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง อ.ดงด่าง จ. หลั่งเซิน เวียดนาม (2) เขตความร่วมมือฯ อำเภอระดับเมืองตงซิง เมืองฝางเฉิงก่าง เขตฯ กว่างซีจ้วง – อ.หม่งกาย จ.กวางนิงห์ ประเทศเวียดนาม และ (3) เขตความร่วมมือฯ อำเภอหลงปัง (Long Bang County, 龙邦县)  เมืองไป่เซ่อ (Bai Se City, 百色市) เขตฯ กว่างซีจ้วง อ.จาลิงค์ (Tra Linh) จ.เกาบั่ง (Cao Bang) ประเทศเวียดนาม

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน