กว่างซีจีบชาติอาซียนร่วมพัฒนา “เส้นทางสายไหมทางทะเล”

22 May 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีอาศัยเวทีการประชุมกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค รอบอ่าวเป่ยปู้ (หรือ อ่าวตังเกี๋ย) เป็นเวทีนำเสนอแนวทางการพัฒนา เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

ปัจจุบัน เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลของจีนแผ่นดินใหญ่กำลังตื่นตัวกับกระแสการสร้าง เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Maritime Silk Road of the 21st Century) ตามกุศโลบายของรัฐบาลกลางที่หวังอาศัยแนวนโยบายดังกล่าวส่งเสริมกระตุ้นความเจริญของจีน

ในงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 8 (8th Pan Beibu Gulf Economic Cooperation Forum, 第八届泛北部湾经济合作论坛) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 14-15 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

นายเฉิน อู่ (Chen Wu, 陈武) ประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่าผู้ว่าการมณฑล) ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลฯ ร่วมกับประเทศสมาชิก ดังนี้

หนึ่ง การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศสู่อาเซียน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกในการผลักดันเส้นทางสายไหมทางทะเลฯ

ทั้งนี้ กว่างซีพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อเร่งผลักดันการสร้างความเชื่อมโยงด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างมิติใหม่ด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางราง ทางถนน ทางอากาศ ท่าเรือ ท่อส่ง(ก๊าซ) โทรคมนาคม และการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า

สอง การพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม เป็นสาขาความร่วมมือสำคัญในการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลฯ

ทั้งนี้ กว่างซีพร้อมให้ความร่วมือและผลักดันการสร้าง คลัสเตอร์อุตสาหกรรม รอบอ่าวเป่ยปู้ และกระชับความร่วมมือกับชาติสมาชิกอาเซียนในสาขาต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเล อุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) เศรษฐกิจทางทะเล (Maritime Economy) แหล่งทรัพยากรพลังงาน การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสมัยใหม่

สาม การสร้าง ฐานการค้าและโลจิสติกส์สมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนรองรับการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลฯ

ทั้งนี้ กว่างซีพร้อมให้ความร่วมมือและผลักดันแนวคิดการสร้างศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์การค้า และศูนย์โลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะศูนย์การค้าสินค้าขนาดใหญ่ระหว่างจีนกับอาเซียน

สี่ การเร่งผลักดันการจัดตั้ง เขตทดลองการปฏิรูปภาคการเงินตามแนวชายแดน จากการที่เมื่อปลายปีก่อน (ปี 56) รัฐบาลกลางได้ประกาศให้พื้นที่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง (และมณฑลยูนนาน) เป็น เขตนำร่องการปฏิรูปภาคการเงินตามแนวชายแดน

ทั้งนี้ กว่างซีพร้อมกระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการเงินกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินระหว่างประเทศ และการพัฒนาช่องทาง(ที่มีความหลากหลาย)การทำธุรกรรมแปลงสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศเป็นสินทรัพย์ทางการเงินต่างประเทศในรูปสกุลเงินหยวนอย่างเสรี (Capital Account Convertibility: CAC) เพื่อส่งเสริมอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และสร้างระบบการเงินสมัยใหม่ที่มีความเสรี

ห้า การสร้าง กลุ่มเมืองมิตรภาพ และ กลุ่มการแลกเปลี่ยนด้านมานุษยวิทยา

ทั้งนี้ กว่างซีพร้อมแสดงจุดแข็งในด้านความร่วมมือด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยากับชาติสมาชิกอาเซียน และพร้อมต่อยอด/ขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในสาขาต่าง ๆ อาทิ การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สาธารณสุข วัฒนธรรม กีฬา และการแก้ไขความยากจน

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือเชิงลึกด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวข้ามพรมแดน เพื่อผลักดันการสร้าง วงแหวนการท่องเที่ยวรอบอ่าวเป่ยปู้และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Pan-Beibu Gulf and Maritime Silk Road Tourism Rim)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน