กว่างซีคุมเข้มการนำเข้าเนื้อสัตว์จากอเมริกา โอกาสที่ธุรกิจไทยมีลุ้น
4 Mar 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีคุมเข้มการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อโคแช่แข็งจากสหรัฐอเมริกา หลังเกิดประเด็นข่าวสาร Ractopamine (สารเร่งเนื้อแดง) ตกค้างในผลิตภัณฑ์
สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคกว่างซี (Guangxi Entry-Exit Inspection and Quarantine, 广西出入境检验检疫局) หรือ CIQ ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาจะต้องแสดงเอกสารตรวจสอบสารตกค้างที่ออกจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับรับรอง เนื่องจากมีการตรวจพบสารตกค้างในผลิตภัณฑ์จากการสุ่มตรวจหลายต่อหลายครั้ง โดยระเบียบดังกล่าวได้เริ่มบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
สาร Ractopamine เป็นสารเคมีในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (β-agonists) มีผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจและระบบประสาท โดยสารดังกล่าวถูกห้ามใช้ในสัตว์เพื่อการบริโภคในหลายประเทศทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศจีนเอง ทว่า ยังมีบางประเทศใช้สารดังกล่าวผสมในอาหารสัตว์อยู่
ปีที่แล้ว (ปี 55) กว่างซีมีการนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งจากสหรัฐอเมริกา จำนวนมากกว่า 190 ล็อต คิดเป็นน้ำหนักรวมมากกว่า 1 หมื่นตัน และคิดเป็นมูลค่าสินค้ามากกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในจำนวนข้างต้น มีการตรวจพบสารตกค้าง Ractopamine ในขาหมูแช่แข็งจากสหรัฐอเมริกา 24.2 ตัน มูลค่า 31,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกสั่งให้ส่งกลับไปทั้งหมด
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด่านท่าเรือที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศมีอยู่เพียง 1 ด่านเท่านั้น คือ “ด่านท่าเรือเมืองเป๋ยไห่” (Beihai Port, 北海口岸)
ผลิตภัณฑ์นำเข้าส่วนใหญ่ถูกจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ หรือโรงแรม ร้านอาหาร เพื่อนำไปประกอบอาหารที่ภาษาจีนเรียกว่า “ล่าเว่ย” (腊味) หรือ ผลิตภัณฑ์จำพวกกุนเชียง เนื้อแดดเดียว
BIC เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในมาตรการกีดกันการค้าเชิงเทคนิค เพื่อใช้ปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ เนื่องจากเนื้อสัตว์แช่แข็งจากสหรัฐอเมริกามีต้นทุนที่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์ที่ผลิตในจีน แม้ว่าจะรวมค่าขนส่งและภาษีนำเข้าแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ช่วงปีที่แล้ว วิสาหกิจยักษ์ใหญ่จีนด้านการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ก็ตกเป็นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการตรวจสอบพบสารเร่งเนื้อแดงในผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการเนื้อสัตว์แช่แข็งของไทยที่จะอาศัยโอกาสดังกล่าวในการเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีน (บางส่วน) นิยมหรือเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้านำเข้ามากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศอยู่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ผู้ประกอบการระวัง ใกล้ตรุษจีนกว่างซีตรวจเข้มเนื้อสัตว์นำเข้า ตรวจพบทำลายทั้งล็อต (8 กุมภาพันธ์ 2556)