กว่างซีคว่ำอินเดียรองแชมป์โลก ขึ้นแท่นผู้ผลิตรังไหมและไหมดิบอันดับ 2 ของโลก

28 Nov 2013

สำนักข่าวซินหัว : “อุตสาหกรรมหม่อนไหม เข้ากระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมสู่ภาคตะวันตก ทำให้ กว่างซี เป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวเลือกที่กำลังได้รับการจับตามองจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่กำลังแสวงหาตลาดใหม่ในการขยายธุรกิจ

การอิ่มตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออก (พื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล) และนโยบายพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก (Go West Policy) ของรัฐบาลกลาง ส่งผลให้ในช่วงหลายปีมานี้ภูมิภาคจีนตะวันตกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด รวมถึงเขตฯ กว่างซีจ้วง

ช่วงที่ผ่านมา สื่อมวลชนจีนได้นำเสนอเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวใน อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นดาวดวงใหม่ของกว่างซีอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมดังกล่าวได้ก้าวขึ้นเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่เชิดหน้าชูตาของกว่างซี (รองจากอุตสาหกรรมน้ำตาล) ด้วยสถิติอันดับหนึ่งของประเทศ  7 รายการ ได้แก่ ผลผลิตรังไหม (9 ปีซ้อน) พื้นที่ปลูกหม่อน (8 ปีซ้อน) ปริมาณการเลี้ยงตัวไหม ผลผลิตรังไหมต่อหนึ่งหน่วยผลิต ผลผลิตไหมดิบ ผลผลิตเห็ดซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้จากกิ่งหม่อน และรายได้เกษตรกร

พื้นที่ที่มีศักยภาพการพัฒนาในอุตสาหกรรมหม่อนไหม ได้แก่ เมืองเหอฉือ นครหนานหนิง เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจ เมืองกุ้ยก่าง และเมืองไป่เซ่อ โดย 7 เมืองข้างต้นมีพื้นที่ปลูกหม่อนและมีปริมาณผลผลิตรังไหมคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งมณฑล (9 อำเภอใน 7 เมืองดังกล่าวมีกำลังการผลิตรังไหมมากกว่าปีละ 2 แสนหาบ)

ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรก ปี 56 กว่างซีมีพื้นที่ปลูกหม่อน 2.62 ล้านหมู่จีน (ราว 1.09 ล้านไร่) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าาร้อยละ 21 ของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.61 (YoY) ผลผลิตไหมดิบ 24,800 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 (YoY)

ทั้งนี้ คาดหมายว่า ปีนี้ จะได้ผลผลิตรังไหม 3.2 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 45 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี โครงสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวยังขาดความสมดุล เนื่องจากขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงลึก ทำให้เกิดการกระจุกใน อุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่เน้นการผลิตเชิงวัตถุดิบเป็นหลัก (การผลิตเส้นใย และการปั่นด้าย)

จากบริบทข้างต้น ภายใต้แผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ระหว่างปี 54-58) ทางการกว่างซีแก้ไขจุดอ่อนในโครงสร้างอุตสาหกรรม ส่งเสริมการจับคู่ระหว่างผู้ผลิตกับผู้แปรรูป สร้างฐานแปรรูปผ้าไหม สนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแพรไหม ดึงดูดวิสาหกิจด้านการแปรรูปเชิงลึกจากต่างพื้ืนที่ การใช้ประโยชน์เงินทุนและเทคโนโลยี การสร้างแบรนด์ และการสร้างตลาดเครือข่าย

การพัฒนาสายพันธุ์หม่อนและตัวไหม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากผลิตผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมหม่อนไหม อาทิ การเพาะเห็ดจากกิ่งหม่อน การผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากการเผากิ่งหม่อน และการผลิตปุ๋ยจากมูลไหมและเศษขี้เถ้าของกิ่งหม่อนที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ไฮไลท์อยู่ที่การส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสู่สาขาธุรกิจอื่น ๆ อาทิ การผลิตกระดาษ อาหาร วัสดุชีวภาพ อาหารสัตว์ ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added) ให้สูงขึ้น

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุตสาหกรรมไหม : ช่องว่างสำหรับผู้ประกอบการไทยรุกตลาดกว่างซี (20 พ.ย. 2556)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน