กว่างซีขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกร แข่งเวียดนาม
14 Jun 2013หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : สภาพอากาศที่เหมาะสำหรับการปลูกผลไม้เขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของกว่างซี ส่งผลให้กว่างซีกลายเป็นฐานการผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศจีน และอาจเป็นคู่แข่งของอาเซียน(ไทย)ในอนาคต
“แก้วมังกร” ผลไม้ที่มีต้นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง เป็นผลไม้เมืองร้อนอีกประเภทที่กำลังเป็นที่นิยมปลูกในพื้นที่เขตฯ กว่างซีจ้วง พื้นที่ปลูกของกว่างซีมีมากกว่าพื้นที่ปลูกของมณฑลกวางตุ้ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน และมณฑลฝูเจี้ยนรวมกัน
การที่ลักษณะภายนอกสีแดงสด มีเกล็ดคล้ายเกล็ดมังกร จึงเป็นหนึ่งในผลไม้มงคลของชาวจีน
อีกทั้ง ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดอกสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตากแห้ง ผลสามารถกินสดหรือหมักเหล้า ต้นสามารถนำมาใช้เป็นไม้กระถางไม้ประดับ
เหตุผลที่ผลไม้เมืองร้อนชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่เขตกึ่งร้อนอย่างกว่างซี เป็นเพราะแก้วมังกรเป็นพืชที่เติบโตง่าย ทนต่อความแห้งแล้ง ทนต่อสภาพอากาศแปรปรวน ทนต่อแมลงศัตรูพืช จึงได้รับความนิยมปลูกในพื้นที่ตอนใต้และพื้นที่ภาคตะวันตกของกว่างซี
ในพื้นที่ดังกล่าว แก้วมังกรให้ผลผลิตเฉลี่ยราวๆ 2.5 ตันต่อหมู่จีน (1 หมู่จีนเท่ากับ 2.4 ไร่) และให้ผลผลิตสูงสุดมากกว่า 3.5 ตันต่อหมู่จีน คิดเป็นมูลค่าการผลิตประมาณ 1-2 หมื่นหยวนต่อหมู่จีน
การที่แก้วมังกรสามารถปลูกในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีนเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นผลไม้หาซื้อยาก และมีความต้องการสูง
นักวิชาการด้านผลไม้ ชี้ว่า แก้วมังกรในตลาดจีนอยู่ในภาวะอุปสงค์ส่วนเกิน (ความต้องการซื้อมีสูง) คำนวณง่ายๆ คือ หากผู้บริโภคในเขตเมืองทั่วประเทศจีนมีความต้องการบริโภคคนละ 1 กิโลกรัม นั่นหมายความถึงปริมาณอุปสงค์จะมีมากกว่า 4 แสนตัน แต่กำลังการผลิตในประเทศมีเพียง 1 แสนตันเท่านั้น
ตามรายงาน กรมการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Agricultural Department, 广西农业厅) ได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแก้วมังกร เพื่อสนับสนุนการปลูกแก้วมังกรในพื้นที่เขตฯ กว่างซีจ้วง
โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ปลูกปีละ 2.5-3 หมื่นหมู่จีน (ราวๆ 6 – 7.2 หมื่นไร่) ใน 9 เมืองทั่วเขตฯ กว่างซีจ้วง อาทิ นครหนานหนิง เมืองไป่เซ่อ เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ เมืองฝางเฉิงก่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ คาดหมายว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีพื้นที่ปลูกแก้วมังกรมากกว่า 1 แสนหมู่จีน หรือ 1.4 แสนไร่ ให้ผลผลิตปีละ 2 แสนตัน และสร้างมูลค่าการผลิต 2,000 ล้านหยวน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วง 3 ปีมานี้ การนำเข้าแก้วมังกร (จากเวียดนาม) ของด่านพรมแดนในกว่างซีมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมา (ปี 55) มีปริมาณนำเข้า 2.4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 127.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายการนำเข้าอันดับหนึ่งในหมวดสินค้าเกษตร และมีมูลค่ามากถึง 1/4 ของสินค้าเกษตรนำเข้า
แก้วมังกรจะไม่ได้เป็นผลไม้ 23 ชนิดที่จีนอนุญาตนำเข้าจากไทย จึงไม่ได้สร้างผลกระทบกับภาคการส่งออกผ่านด่านการค้าสากล (การค้าต่างประเทศผ่านด่านศุลกากร) ของไทยแต่อย่างใด ทว่า ภาคส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์ในกรณีที่หากการปลูกแก้วมังกรของกว่างซี(จีน)เริ่มสุกงอม มีปริมาณและศักยภาพพอที่จะส่งออกได้แล้ว ตลาดส่งออกไทยในต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย