กลุ่มบริษัท Huayi ปักหมุด“ฐานวัสดุเคมีภัณฑ์”ระดับโลกที่เมืองชินโจว

24 Nov 2017

      กลุ่มบริษัทHuayi ทุ่มเงิน 1.2 หมื่นล้านหยวนเพื่อลงทุนก่อสร้าง“ฐานการผลิตวัสดุเคมีสมัยใหม่แบบครบวงจร”(เฟสแรก) ในนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีท่าเรือชินโจว (State-level Qinzhou Harbor Economic and Technical Development Zone/钦州港经济技术开发区)

      กลุ่มบริษัท Huayi เป็นรัฐวิสาหกิจที่ติดอันดับ 500 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เป็นผู้นำด้านวิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีกิจการสาขาตั้งอยู่ในหลายมณฑล อาทิ มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง มณฑลอันฮุย นครฉงชิ่ง เขตฯ มองโกเลียใน และเขตฯ ซินเจียงอุยกูร์

      ตามรายงาน “ฐานการผลิตวัสดุเคมีสมัยใหม่แบบครบวงจร”เป็นอีกหนึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ต่อจากโครงการโรงกลั่นน้ำมัน 10 ล้านตันของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ CNPC

      โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ราว 1,250 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.28 หมื่นล้านหยวน (2 เฟส) คาดว่า เมื่อเริ่มดำเนินการผลิตแล้วจะสร้างเม็ดเงินภาษีให้ภาครัฐปีละ 1,800 ล้านหยวน และเพิ่มปริมาณการขนถ่ายของท่าเรือได้ราวปีละ 6 ล้านตัน

      เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มบริษัท Huayi ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการเฟสแรกบนเนื้อที่ 625 ไร่มูลค่าลงทุน 1.2 หมื่นล้านหยวน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ก๊าซที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยี coal gasificationอาทิ ไฮโดรเจน ก๊าซสังเคราะห์ ไนโตรเจน เพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม และการผลิตเคมีภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ เมทานอล เอทิลีนไกลคอล และกรดเอทิลีน

      โครงการเฟสสอง เน้นกระบวนการแปรรูปเมทานอลเป็นโอเลฟิน และการแปรรูปเชิงลึกในอุตสาหกรรมปลายน้ำของโอเลฟินเพื่อผลิต Ethylene Vinyl Acetate (EVA) และกรดอะครีลิค จากกระบวนการแปรรูปดังกล่าว รวมถึงต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สารเคมีพิเศษ (Fine chemicals) และวัสดุขั้นสูง (High performance new materials) อาทิ บิวทานอล-อ็อกทานอล ก๊าซเอทิลีนออกไซด์ และสารลดแรงตึงผิว

      หลายฝ่ายมองว่า การเข้ามาของกลุ่มบริษัท Huayi มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเคมีของเขตฯ กว่างซีจ้วง การพัฒนาฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับชาติของเมืองชินโจว และการเป็นฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอ่าวเป่ยปู้

      BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองชินโจว (Qinzhou City/钦州市)ตั้งอยู่ใจกลางของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อว่า “อ่าวตังเกี๋ย”) ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยง Belt and Road Initiative (BRI)โดยเฉพาะในส่วนเส้นทางเส้นไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ที่เชื่อมจีนตอนใต้กับอาเซียน 

      ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีท่าเทียบเรือระดับหมื่นตันขึ้นไป 30 ท่า มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้า 120 ล้านตัน มีศักยภาพรองรับเรือขนาด 3 แสนตัน มีเส้นทางเดินเรือทั้งในและต่างประเทศรวม 30 เส้นทาง เป็นท่าเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอ่าวเป่ยปู้

      ล่าสุด ท่าเรือชินโจวยังเป็น “ข้อต่อ”สำคัญของระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในเส้นทาง “อวี๋ (ฉงชิ่ง) กุ้ย (กว่างซี) ซิน (สิงคโปร์)” ที่เชื่อมงานโลจิสติกส์ทางราง+ทางเรือแบบไร้รอยต่อ มีที่ตั้งใกล้นิคมอุตสาหกรรมแห่งชาติจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมให้เมืองที่เป็น post development city อย่าง “เมืองชินโจว” ทวีบทบาทความสำคัญและน่าจับตามองในเรื่องการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ

 

ลิงก์ข่าว

-บทความเรื่อง อวี๋กุ้ยซินพลิกโฉม โลจิสติกส์จีนเชื่อมโลกแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร(21 .. 2560)

-บทความเรื่อง โอกาสการลงทุนที่เมืองชินโจว เมื่อจีนไฟเขียว รังนกไทยเข้าแดนมังกร(9 .. 2560)

กว่างซีจับมือสิงคโปร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เชื่อมจีน(อนใน)สู่โลก(15 .. 2560)

กว่างซีพัฒนาโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น เชื่อมยุทธศาสตร์ Belt and Road(10 .. 2560)

4 มณฑลจีนตะวันตกจรดน้ำหมึก ร้อยโซ่ทองคล้องยุทธศาสตร์ Belt and Road(4 .. 2560)

กว่างซีเร่งกระชับความร่วมมือด้านท่าเรือกับประเทศอาเซียน(31 .. 2560)

“ผลไม้ไทย”เปิดประเดิมนำเข้าผ่านท่าเรือชินโจว(20 .. 2560)

กว่างซีตั้งเป้า ฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค(18 .. 2560)

จัดทำโดย :     นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
:    เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560

                 เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社) วันที่ 21พฤศจิกายน 2560

                 เว็บไซต์
http://www.shhuayi.com

ชินโจวอวี๋กุ้ยซินเคมีภัณฑ์

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน