กระแสกินอาหารคลีนเพื่อสุขภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรกว่างซี(และไทย)

14 Feb 2017

ในยุคที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพ การกินอาหารคลีนก็กำลังเป็นกระแสในจีนด้วยเช่นกัน ชาวจีนยอมจ่ายแพงเพื่อแลกกับสิ่งที่ดีที่สุดกระแสที่กำลังมาแรงนี้สร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรของกว่างซีและเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยเราน่าจับตามอง

โอกาสที่กล่าวถึง คือ สินค้าเกษตรที่มีแร่ธาตุเซเลเนียมสูง การที่กว่างซีเป็นมณฑลเกษตรที่สำคัญของประเทศจีน ผืนดินในกว่างซีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอย่างแร่เซเลเนียม (Selenium)แร่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น แร่อายุวัฒนะจึงเป็นโอกาสของกว่างซีในการพัฒนาให้ตนเองเป็นฐานนำร่องอุตสาหกรรมการเกษตรเซเลเนียมสูงที่ใหญ่ที่สุดของจีน เกาะกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีน

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาการเกษตรเซเลเนียมสูงเขตฯกว่างซีจ้วง ให้ข้อมูลว่ากว่างซีมีพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเซเลเนียมกว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซเลเนียมสูงของกว่างซีมีมูลค่าการผลิตราว 1,670 ล้านหยวน และช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า 60,000 ครัวเรือน

แนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูงของกว่างซี อาทิ

  •   การจัดตั้งหน่วยงาน/สถาบันเฉพาะทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าเกษตร อาทิ สำนักงานพัฒนาการเกษตรเซเลเนียมสูงเขตฯ กว่างซีจ้วง (广西富硒农业开发办公室) สมาคมสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง (广西富硒农产品协会)
  •   การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่น(กำลังผลักดันสู่ระดับประเทศ)เพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการผลิตสินค้าเกษตร ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ 55 รายการของผู้ประกอบการ(สหกรณ์) 44 รายที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง มีผลิตภัณฑ์ 16 รายการได้ชื่อว่าเป็น ‘China Famous Selenium Products’ และอีก 8 รายการเป็น ‘China Specialty Selenium Products’
  •   การจัดสรรงบประมาณรัฐรวม 10 ล้านหยวน (ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่สาธิตการผลิตสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง 154 แห่งทั่วมณฑล รวมพื้นที่ 2.51 แสนหมู่จีน (ราว 1.04 แสนไร่)
  •   การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิต(รวมถึงสหกรณ์)เข้าร่วม 323 ราย มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมามากกว่า 30 ชนิด อาทิ ข้าว ใบชา หล่อฮังก๊วย ผักผลไม้ และน้ำมันพืช เป็นต้น



สำหรับประเทศไทย บีไอซีเห็นว่า แนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรข้างต้นเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาสำหรับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่จะนำมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ การวิจัยเพื่อพัฒนา การสร้างมาตรฐานและแบรนด์สินค้า รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพของไทยที่มีตัวสินค้าและประเมินความพร้อมของตนเองในการเข้าสู่ตลาดจีนไว้แล้ว ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นธุรกิจในจีนด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อนำสินค้าของตนเองมาทดลองตลาดและหาพันธมิตรทางธุรกิจ

สิ่งสำคัญ คือ สินค้าเพื่อสุขภาพของท่านต้องมีคุณภาพน่าเชื่อถือและมีลูกเล่นที่แตกต่าง เพราะชาวจีนมีค่านิยมและมีความเชื่อมั่นต่อสินค้านำเข้ามากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ กอปรกับการมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคชาวจีนพร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงเป็นโอกาสที่สินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพของไทยเข้ามาเจาะตลาดจีนได้ไม่ยาก

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ กระแสที่กำลังมาแรงในกว่างซี(09 พ.ย. 2559)

สร้างกิมมิก เพิ่มมูลค่า – กรณีศึกษา ข้าวในกว่างซี (ที่ไทยน่าเรียนรู้) (23 ธ.ค. 2558)

ทางการกว่างซีจัดระเบียบตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพขีดเส้นมาตรฐานสินค้าเซเลเนียมสูง(25 ส.ค. 2557)

โอกาสและความท้าทาย : อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูงในกว่างซี(18 มิ.ย. 2557)

     

อาหารคลีน,เซเลเนียม,เกษตร

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน