ระดับเมือง หรือ City tier—— ข้อมูลสำคัญก่อน‘ลุย’ ตลาดจีน

7 Oct 2024

ระดับเมือง หรือ City tier—— ข้อมูลสำคัญก่อนลุยตลาดจีน มุมมองที่คิดว่า “เมืองไหน ๆ ในจีนก็เหมือนกันหมด” ถือเป็นหายนะ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตลาดจีนมีความหลากหลาย ซับซ้อน และแตกต่างในระดับเมือง ทั้งในแง่ของขนาด กำลังซื้อรสนิยม การเปิดกว้างทางความคิด รวมถึงความต้องการต่อสินค้าและบริการดังนั้น “การแบ่งระดับเมือง” ถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้นักการตลาดมองเห็นภาพตลาดจำนวนมากที่ประกอบกันเป็น “ตลาดจีน” และเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจในการเข้าสู่ตลาดหรือเป็นแนวทางในการขยายธุรกิจในจีน

ปัจจุบัน “ระบบการจำแนกระดับเมือง” ในประเทศจีนมีอยู่หลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น Yicai Global, South China Morning Post, Mafengwo Report แม้ข้อมูลการจัดอันดับเมืองจะไม่ได้เป็นข้อมูลทางการแต่เป็นข้อมูลที่ภาคธุรกิจไทยสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อประกอบการพิจารณาแผนการตลาดในจีน

 ในบทความฉบับนี้ บีไอซี ขอนำเสนอรายงาน“การจัดอันดับเมืองระดับหนึ่งหน้าใหม่ที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด ประจำปี 2567” ของ Yicai Global ซึ่งเป็นสื่อเศรษฐกิจชั้นนำในจีน ซึ่งใช้เกณฑ์การพิจารณาในการกำหนดระดับเมือง 5 หมวด คือ (1) การกระจุกตัวของทรัพยากรเชิงพาณิชย์ (2) ความเป็นศูนย์กลางของเมือง (3) ความมีชีวิตชีวาของผู้อาศัยในเมือง (4) ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจกระแสใหม่และ (5) ศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต

รู้จัก City tier—— ค้นหา “เมืองที่ใช่” ไม่ใช่ “เมืองที่ชอบ” ในรายงาน “การจัดอันดับเมืองระดับหนึ่งหน้าใหม่ที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด ประจำปี 2567” มีจำแนกเมือง 337 แห่งของจีน (เมือง 333 แห่ง + นครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง 4 แห่ง) เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

(1) เมืองระดับ 1 หรือ First–tier cities จำนวน 4 เมืองเป็นเมืองขนาดใหญ่ระดับอภิมหานคร (mega-cities) ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมืองการศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 15 ล้านคน มีระดับความเป็นเมืองสูงที่สุด (urbanization) มีระดับความมั่งคั่งมากที่สุด มีระดับความเจริญมากที่สุด ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ระบบสาธารณูปโภคประชากรมีรายได้และกำลังซื้อสูง และมีอัตราค่าครองชีพสูงอย่างมาก

(2) เมืองระดับ 1 หน้าใหม่ หรือ New first-tier cities จำนวน 15 เมือง เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง มีระบบสาธารณูปโภคครบครันประชากรมีกำลังซื้อสูงส่วนใหญ่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน มีบทบาททางเศรษฐกิจ การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาค มีอัตราค่าครองชีพสูง เป็นเมือง “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ของจีนที่มีศักยภาพกำลังเติบโตไล่และก้าวขึ้นเป็นเมืองระดับ 1 ในอนาคต

(3) เมืองระดับ 2 หรือ Second-tier cities จำนวน 30 เมืองส่วนใหญ่เป็นเมืองเอกและเมืองรองของมณฑลหรือเมืองชายฝั่งตะวันออกมีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสูง แม้จะยังไม่เท่า New first-tier cities และเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน (โดยทั่วไป 1 – 5 ล้านคน) มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล และมีศักยภาพในการเติบโตขึ้นเป็น New first-tier cities ในอนาคต

(4) เมืองระดับ 3 หรือ Third-tier cities จำนวน 70 เมือง บางส่วนเป็น “เมืองรอง” ของมณฑล มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับหนึ่งมีระบบสาธารณูปโภคค่อนข้างครบครัน เป็นเมืองศูนย์กลางระดับรองในมณฑล และมีโอกาสเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง

(5) เมืองระดับ 4 หรือ Forth-tier Cities จำนวน 90 เมืองเป็นระดับกลางที่มีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจและระบบคมนาคมที่ค่อนข้างครบครัน แต่ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากเมืองศูนย์กลางที่อยู่ใกล้เคียง ระดับการบริโภคมีแนวโน้มเติบโตได้ดี

(6) เมืองระดับ 5 หรือ Fifth-tier Cites จำนวน 128 เมืองโดยทั่วไป เป็นเมืองขนาดเล็ก มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า การคมนาคมขนส่งไม่ค่อยสะดวก เป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นหน่วยการปกครองระดับเมืองที่ยังด้อยพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ และเมืองขนาดกลาง-เล็กในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศ

************************

Nanning_editor1

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน