ภาพรวมการค้าต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วง ครึ่งปีแรก 2567
8 Aug 2024สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะภาคการส่งออก ‘โตแรง’ สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีการค้ากับ “เวียดนาม” เป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ภาคการนำเข้ายังคงอ่อนแรง และ “อาเซียน” ยังเกาะเก้าอี้คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซีเป็นปีที่ 24 ติดต่อกัน
ช่วงครึ่งปีแรก 2567 กว่างซีมีมูลค่าการค้าต่างประเทศ 345,278 ล้านหยวน ขยายตัว 12.0% โดยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 12 ของประเทศ (จาก 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่) และเป็นอันดับที่ 2 จาก 12 มณฑลในจีนตะวันตก (รองจากมณฑลเสฉวน) และมีอัตราขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 5.9 จุด (การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัวที่ 6.1%) โดยแบ่งเป็น
- มูลค่าส่งออก 191,800 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 28.5%
- มูลค่านำเข้า 153,478 ล้านหยวน ลดลง 3.6%
- ได้ดุลการค้าต่างประเทศ 38,322 ล้านหยวน
“อาเซียน” เป็นคู่ค้าสำคัญด้วยสัดส่วน 53.76% ของมูลค่ารวม โดยสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 185,616 ล้านหยวน ขยายตัว 26.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้ากับ “เวียดนาม” โดยมีสัดส่วนสูงถึง 41.7% ของมูลค่ารวม และคิดเป็นสัดส่วน 77.57% ของการค้ากับอาเซียน การเติบโตภาคอุตสาหกรรมการผลิตของ “เวียดนาม” การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในตลาดโลก กระตุ้นให้ภาคการส่งออกของกว่างซีไปเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไอที อาทิ แผงวงจรรวม อะไหล่คอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ลิเทียม และอะไหล่อุปกรณ์เสริมงานภาพและเสียง (video and audio equipment)
การค้ากับ “กัมพูชา” น่าจับตามองอย่างมาก มีอัตราขยายตัวมากที่สุด (+99.5%) มูลค่าการค้าที่เพิ่มมากขึ้นช่วยให้กัมพูชาเบียดแซงฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ในอาเซียนของกว่างซี ขณะที่การค้ากับ “ประเทศไทย” มีแนวโน้มชะลอตัวลง แม้ว่าประเทสไทยเป็น “ตลาดส่งออก” อันดับ 2 ของกว่างซี แต่สถานการณ์การนำเข้าจากไทยส่งสัญญาณฝืด ส่งผลให้ประเทศไทยตกไปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของกว่างซี รองจากเวียดนาม บราซิล และออสเตรเลีย (ปี 2566 เคยอยู่อันดับ 2 รองจากเวียดนาม)
นอกจากตลาดอาเซียน พบว่า ตลาดเกิดใหม่แถบละตินอเมริกา โอเชียเนีย และแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศในละตินอเมริกา (+38.5%) โอเชียเนีย (+40.6%)
การค้ากับ “ประเทศไทย” ในภาพรวม มีแนวโน้มชะลอตัวลงครึ่งปีแรก 2567 สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 16,155 ล้านหยวน ลดลง 17.8% (YoY)โดยประเทศไทยเป็น ‘ตลาดส่งออก’ อันดับ 2 ของกว่างซี ขณะที่การนำเข้าจากไทยส่งสัญญาณฝืด เนื่องจากสถานการณ์การนำเข้า 2 รายการสินค้าหลักจากประเทศไทยอย่าง “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” (HS Code: 84717019 ไม่รวมถึง solid-state drive) และ “ทุเรียนสด” มีแนวโน้ม ‘ดิ่งลง’ ส่งผลให้ประเทศไทยร่วงลงไปเป็นคู่อันดับ 4 ของกว่างซี (จากเดิมอยู่อันดับ 2 รองจากเวียดนาม)
กล่าวคือ ครึ่งปีแรก 2566 ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและทุเรียนสดที่กว่างซีนำเข้าจากไทย มีมูลค่ารวม 7,034.96 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 74.57% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากประเทศไทย โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 99.89% ของมูลค่าการนำเข้าฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจากต่างประเทศ (ครึ่งปีแรก ปี 2567 ส่วนแบ่งตลาด 98.47%)
ขณะที่ครึ่งปีแรก 2567 มูลค่ารวมการนำเข้าฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และทุเรียนสดจากไทย ลดลงเกือบ 50% มีมูลค่านำเข้ารวมเพียง 3,558.16 ล้านหยวน แบ่งเป็นการนำเข้า “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” ลดลง 60.45% มูลค่าที่ลดลง 2,432.62 ล้านหยวน หรือหายไปกว่า 12,163 ล้านบาท และการนำเข้า “ทุเรียนสด” ลดลง 34.68% มูลค่าที่ลดลง 1,044.18 ล้านหยวน หรือลดลง 5,221 ล้านบาท
ทั้งนี้ พออนุมานได้ว่า การชะลอตัวของอุปสงค์การนำเข้า “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจากไทย” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง อาจเป็นเพราะความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา กอปรกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า consumer electronics ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว ในขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการคอมพิวเตอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว รวมถึงความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ทยอยปรับตัวลดลงจากการถูกเข้ามาแทนที่ของ solid-state drive หรือ SSD
**************