เปิดสถิติการนำเข้า “โคมีชีวิต” ของจีน ปี 2566

4 Jun 2024

หนึ่งในเรื่องที่คนไทยยังเข้าใจคนจีนผิดอยู่ นั่นก็คือ “คนจีนไม่ทานเนื้อ(วัว) เพราะว่านับถือเจ้าแม่กวนอิม” อันที่จริง ถ้าหากท่านได้มาท่องเที่ยวหรือลองใช้ชีวิตในเมืองจีนแล้ว ท่านจะพบว่า… คนจีนชอบทานเนื้อ(วัว)มาก ถึงมากที่สุด ทั้งเนื้อสไลด์บางในร้านสุกี้-หมาล่าชาบู เนื้อหั่นเต๋าในร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น เนื้อสเต็กในร้านอาหารฝรั่ง หรือเนื้อเสียบไม้ย่างบาร์บีคิวริมทาง และเนื้อแดดเดียวทรงเครื่องในแพคสุญญากาศ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2566 ประเทศจีนมีกำลังการผลิตเนื้อวัว 7.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ขณะที่กำลังการบริโภคมีสูงถึง 10.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จึงพออนุมานได้ว่า… การผลิต(เนื้อ)วัวในจีนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคได้เพียงพอ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อชดเชยส่วนขาด ทั้งการนำเข้าโคมีชีวิต (เพื่อชำแหละและเพื่อปรับปรุงพันธุ์) และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวชำแหละและตัดแต่ง

สถิติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ระบุว่า ปี 2566 ประเทศจีนมีการนำเข้าโคมีชีวิต (วัตถุประสงค์เพื่อการชำแหละและเพื่อใช้ปรับปรุงพันธุ์) รวม 147,661 ตัว (รวมน้ำหนัก 42,041 ตัน) คิดเป็นมูลค่ารวม 2,218.06 ล้านหยวน เป็นการนำเข้าของ 8 มณฑล จาก 5 ประเทศทั่วโลก

โดยปีที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ‘ส้มหล่น’ จากการดำเนินนโยบายระงับการส่งออกปศุสัตว์มีชีวิตของรัฐบาลนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2566 ทำให้ ‘วัวเนื้อออสซี่’ ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในจีนด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 60 ของปริมาณนำเข้ารวม ขณะที่นิวซีแลนด์ตกมาอยู่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 29 ตามด้วยอุรุกวัย (ร้อยละ 6) ชิลี (ร้อยละ 5) และ สปป.ลาว (ร้อยละ 0.02)
ผู้นำเข้ารายใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง มีการนำเข้าโคมีชีวิตมากที่สุดในจีน 52,211 ตัว ตามด้วยนครเทียนจิน (27,170 ตัว) มณฑลเหอเป่ย (23,796 ตัว) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (18,955 ตัว) มณฑลไห่หนาน (12,090 ตัว) นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลซานตง และมณฑลยูนนาน

แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน ถือเป็น “ความท้าทาย”  ที่ประเทศไทยยังอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ห้ามนำเข้าจากประเทศ/ดินแดนที่มีโรคระบาดในสัตว์ เพราะเป็นพื้นที่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ทำให้“โคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อวัว” ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้โดยตรง แต่ใช้วิธีการส่งออกไปพักเลี้ยงในเขตปลอดโรคของ สปป.ลาว

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับจีนเรื่องการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะโคและสุกรมีชีวิตให้สามารถส่งออกไปจีนได้โดยตรง เพื่อลดการแบกรับต้นทุนของเกษตรกร การพัฒนาเขตปลอดโรคระบาดเพื่อเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์พร้อมกักกันโรคก่อนส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวทางและมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดของไทยให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนเข้ามาตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ของไทย เพื่อเปิดทางให้ “โคไทย” ก้าวไกลสู่ตลาดจีนได้อย่างราบรื่นโดยเร็ว

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องให้ความตระหนักรู้ เฝ้าระวัง และยกระดับระบบการเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Good Agricultural Practice : GAP) และเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) รวมถึงการรับวัคซีนป้องกันโรคระบาด และนำไปสู่การกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคลัมปิ สกินให้หมดไปจากประเทศไทย

โคมีชีวิต

Nanning_editor2

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน