ภาพเล่าเรื่อง : ทำไมการส่งออกไทยไปจีนต้องเลือก “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี
10 Jul 2020“ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” (钦州铁路集装箱中心站) เป็น 1 ใน 12 ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่สำคัญของประเทศจีน เริ่มเปิดใช้งาน (เฟสแรก) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟชินโจวตะวันออกในบริเวณเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว เป็นจุดเชื่อมต่อของ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (ILSTC) ที่ใช้เชื่อมโยงอาเซียน-จีน(ตะวันตก)-เอเชียกลาง-ยุโรป ผ่านโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ(ท่าเรือชินโจว)+ราง(สถานีรถไฟชินโจวตะวันออก)” แบบไร้รอยต่อ
กล่าวคือ ตู้สินค้าจากต่างประเทศสามารถขนถ่ายจากเรือเพื่อขึ้นรถไฟต่อไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน รวมทั้งผ่านประเทศจีนไปยังประเทศในเอเชียกลางและยุโรปได้ ในทางกลับกัน สินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้เช่นกัน โดยมีบริษัท CR Intermodal Co.,Ltd. สาขากว่างซี (中铁联合国际集装箱广西有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ
ปัจจุบัน มีบริการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าใน 7 เส้นทาง อาทิ นครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครกุ้ยหยาง และนครหลานโจว ศูนย์บริการแห่งนี้มีศักยภาพการขนส่งวันละ 20 เที่ยว แต่ขณะนี้มีบริการรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์วันละ 8 เที่ยว เป็นรถไฟขาขึ้น (ออกจากสถานีชินโจวไปจีนตอนใน) 5 เที่ยว และรถไฟขาล่อง (จากจีนตอนในเข้าสถานีชินโจว) 3 เที่ยว จึงมีศักยภาพรองรับการขยายตัวได้อีกมาก รถไฟหนึ่งขบวนมี 50 เพลต สามารถขนลากตู้คอนเทนเนอร์ได้ 100 ตู้
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ งานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพสูงจากข้อได้เปรียบด้านระยะทางที่สั้น ช่วยประหยัดเวลา ค่อนข้างตรงเวลา ปลอดภัย และคล่องตัว รวมทั้งต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจลดลง ทั้งนี้ ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 (เปรียบเทียบกับปี 2561) ด่านท่าเรือชินโจวใช้เวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้า 61.99 ชม. (จากเดิมใช้เวลา 267.44 ชม) และพิธีการศุลกากรขาออกใช้เวลา 4.2 ชม. (จากเดิมใช้เวลา 43.55 ชม.)
ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวผ่านนโยบายเงินอุดหนุนและลดค่าใช้จ่าย อาทิ การอุดหนุนให้ตู้สินค้าที่ใช้การขนส่งเรือ+รางตู้ละ 800 หยวน การลดค่าขนส่งทงารถไฟลง 30% การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ในท่าเรือให้เท่ากับท่าเรือขนาดใหญ่อย่างท่าเรือหนิงโปและท่าเรือเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟแทน ซึ่งการขนส่งทางรถไฟเป็นแนวโน้มในอนาคต
การขนส่งสินค้ากับประเทศไทย ท่าเรืออยู่ระหว่างการวางแผนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงตู้เปล่า จากฝั่งจีนไปไว้ที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังยุโรปผ่านโมเดลเรือ+รางโดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้สินค้า เนื่องจากหากใช้ตู้สินค้าจากไทยต้องมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าที่ท่าเรือชินโจวก่อนจะขนส่งทางรถไฟไปยุโรป ช่วยให้สายเรือและผู้ส่งออกประหยัดต้นทุนและคลายข้อกังวลเรื่องการขนตู้สินค้ากลับท่าเรือต้นทางที่ไทย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีสินค้าขากลับหรือกรณีต้องขนตู้เปล่ากลับไทย ซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
****************************