จับชีพจร “ทุเรียนไทย” ความท้าทายใหม่ในสมรภูมิ “ทุเรียนสด” ในจีน
2 Feb 2024ปี 2566 ‘ทุเรียนไทย’ ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน การวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า แม้ว่าทุเรียนไทยจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกทุเรียนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า กล่าวคือ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 144,966 ตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 18.49 (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 31,973 ล้านหยวน หรือเฉียด 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.48 (YoY)
ผู้เล่นหน้าใหม่ที่น่าจับตาคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘เวียดนาม’ ที่ส่งทุเรียนพันธุ์หมอนทอง รีเสา (Ri6) ลงสนามสังเวียน โดย ‘ทุเรียนญวน’ ใช้เวลาสั้น ๆ เพียงปีกว่า (ทุเรียนสดเวียดนามเข้าจีนครั้งแรกในเดือนกันยายน 2565) ก็สามารถ ‘แบ่งเค้ก’ ตลาดทุเรียนในจีนไปได้ร้อยละ 34.59 ด้วยปริมาณการนำเข้า 493,183 ตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 15,126 ล้านหยวน
ขณะที่ ‘ทุเรียนปินส์’ มาแบบเลียบ ๆ เคียง ๆ ด้วยปริมาณการนำเข้า 3,763 ตัน คิดเป็นมูลค่า 94.7 ล้านหยวน มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.26 ของปริมาณนำเข้าทุเรียนสดของจีน โดยสาเหตุสำคัญเป็นเพราะทุเรียนฟิลิปปินส์ยังไม่เป็นที่รู้จักในสายตาผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งปัจจัยด้านต้นทุนและระยะทางการขนส่ง (ทางเรือกับทางเครื่องบิน) รวมถึงสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘ล้ง’ ในฟิลิปปินส์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากศุลกากรแห่งชาติจีนยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศไทยและเวียดนาม
จากข้อมูลล่าสุดบนเว็บไซต์ศุลกากรแห่งชาติจีน พบว่า สวนทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีจำนวน 183 แห่ง และโรงคัดบรรจุทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีจำนวน 10 แห่ง ขณะที่ประเทศไทยมีสวนทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วเกือบ 80,000 แห่ง โรงคัดบรรจุผลไม้เกือบ 2,000 แห่ง และเวียดนามมีสวนทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 708 แห่ง และโรงคัดบรรจุทุเรียน 168 แห่ง
ตลาดนำเข้าหลักในจีนยังเป็นตลาดดั้งเดิมบริเวณพื้นที่จีนตอนใต้ ตัวเลขสถิติของศุลกากรจีน พบว่า การนำเข้าทุเรียนสดของ 3 มณฑลตอนใต้ คือ “มณฑลกวางตุ้ง เขตปกครองตนเองกว่างซี และมณฑลยูนนาน” รวมกันมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของปริมาณการนำเข้าทั้งประเทศ หรือราว ๆ ร้อยละ 61.29 หากรวมกับ “มณฑลเจ้อเจียง” ที่ยืนหนึ่งในฐานะผู้นำเข้ารายใหญ่ทางภาคตะวันออกของจีนแล้ว จะมีสัดส่วนการนำเข้ามากถึงร้อยละ 71.73 ของปริมาณนำเข้าทั้งประเทศเลยทีเดียว
ตลาด ‘ทุเรียนญวน’ อยู่แถวไหนในจีน นอกจากเขตฯ กว่างซีจ้วงแล้ว มณฑลที่นิยมทุเรียนญวนอันดับรองลงมา ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง สัดส่วนร้อยละ 17.36 ของปริมาณนำเข้าทุเรียนเวียดนามของจีน / มณฑลเจ้อเจียง สัดส่วนร้อยละ 11.83 / มณฑลยูนนาน สัดส่วนร้อยละ 10.90 และมณฑลเหอเป่ย สัดส่วนร้อยละ 10.03 โดย 5 มณฑลข้างต้น มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 78.18 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนญวนของทั้งประเทศ
ขณะที่ ‘ทุเรียนปินส์’ ตลาดหลักอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีสถิติการนำเข้า 1,167 ตัน สัดส่วนร้อยละ 31.04 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์ของทั้งประเทศ มณฑลกวางตุ้ง 1,158 ตัน สัดส่วนร้อยละ 30.79 และมณฑลเจ้อเจียง 893 ตัน สัดส่วนร้อยละ 23.75 โดยการนำเข้าของ 3 มณฑลข้างต้น มีสัดส่วนรวมกันมากถึงร้อยละ 85.58 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์ของทั้งประเทศ