Fintech กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับภาคการเงินของโลก

4 Jul 2019

การเพิ่มขึ้นของบริษัททางด้านเทคโนโลยีสู่ภาคการเงิน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมการเงิน นอกจากนั้นที่สำคัญยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากในเรื่องการกำกับดูแลทางการเงิน

HSBC Holdings บริษัทด้านการเงินชั้นนำของโลก เป็นบริษัทภาคการเงินรายล่าสุดที่ประกาศว่าจะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี Fintech มากขึ้นและกำลังเล็งจะจ้างพนักงานเพิ่มกว่า 1 พันคนเพื่อมาประจำยังศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ในจีนอาทิใน เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น หรือซีอาน เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในภูมิภาค และเพื่อจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับเครือข่ายลูกค้าทั่วโลก โดยการขยายตัวครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มพนักงานในจีนถึงร้อยละ 14 และจะใช้เงินลงทุนมากถึง 3 – 3.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยี

ในขณะเดียวกันความเสี่ยงและความท้าทายที่เกิดขึ้นจาก Fintech ถือเป็นประเด็นที่ร้อนแรง และได้ถูกหยิบยกไปพูดคุยในงาน Shanghai Forum งานประชุมวิชาการประจำปีที่จัดโดยมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นร่วมกับ Korean Foundation for Advanced Studies ว่าผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลกฎเกณฑ์ทางการเงิน มักจะปรับตัวไม่ทันความเร็วของการพัฒนา Fintech ในขณะที่นวัตกรรมจะนำหน้าความพยายามสร้างกฎเกณฑ์อยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันสามารถพบเห็น Fintech ได้ทั่วไปในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยในประเทศจีนบริษัท Ant Financial บริษัทในเครือของ Alibaba ได้ให้บริการที่คล้ายคลึงกับธนาคาร แถมในบางเรื่องอาจจะให้บริการที่ดีกว่าธนาคารด้วยซ้ำ

หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลกระทบทั่วโลกเมื่อปี 2551 ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ Startup Fintech ยังสามารถดำเนินการทางการเงินได้อย่างอิสระ การเข้ามากำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์ให้แก่ Fintech จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน

Daniela Bobeva อดีตรองนายกรัฐมนตรีบัลแกเรียกล่าวในงาน Shanghai Forum ว่า ผู้ที่เข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินการธนาคาร ผสมกับความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และควรใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ติดตามผลและการกำหนดนโยบายอีกด้วย

ในหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Sandbox หรือพื้นที่สำหรับทดลองนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาทำการทดลอง ตรวจสอบ แนะนำว่าเทคโนโลยี FinTech ที่ออกมานั้นสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง มีความปลอดภัย และเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อใช้ควบคุมนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งนาย Hu Bin รองผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันการเงินของสถาบันสังคมศาสตร์จีนกล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษใช้ Sandbox กับบริษัท Fintech ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจในด้าน Fintech ซึ่งจีนเองก็ควรจะสร้างกรอบ Sandbox ของตัวเองขึ้น เพื่อไม่ให้สูญเสียความเป็นผู้นำในด้านนี้ไป อีกทั้งตลาดผู้บริโภคขนาดมหึมาของจีนก็ยังเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับแอพลิเคชั่นด้าน Fintech ต่าง ๆ อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าภาครัฐอาจจะยังรอดูสภานการณ์ต่อไปอีกระยะจนกว่าปัญหาหลัก ๆ ในการบริหารจัดการ Sandbox จะได้รับการแก้ไข

ในส่วนของไทยเองนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดตั้ง Regulatory Sandbox ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 โดยนวัตกรรมที่ ธปท. อนุญาตให้เข้าร่วมได้ จะต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน มีมาตรการความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศ นวัตกรรมเหล่านี้จะเข้าร่วมทดลองใน Regulatory Sandbox เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน และหากประสบความสำเร็จตามเงื่อนไข ธุรกิจก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตให้บริการได้ทันที

 

อ้างอิง Shanghai Daily 3 มิถุนายน 2562

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน