ประเทศไทยอย่าตกขบวน!! เมื่อจีน(กว่างซี) – สปป.ลาว ลงนามเปิด “ศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือ AI” แห่งแรกในอาเซียน
14 Mar 2025
“ปัญญาประดิษฐ์” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า AI (Artificial Intelligence) กำลังเป็นเทคโนโลยีระดับแนวหน้าที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะ “ประเทศจีน” ที่ได้วางเป้าหมายการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม AI ชั้นนำระดับโลกภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)
เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา วงการ AI สั่นสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาหลังจากที่ DeepSeek สตาร์ทอัปผู้พัฒนา AI สัญชาติจีนได้เปิดตัวโมเดล R1 ที่เน้นงานเกี่ยวกับการให้เหตุผล หรือ Reasoning Tasks ทำให้กูรูในแวดวงเทคโนโลยีทั่วโลกต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลามเกี่ยวกับความสำเร็จของ DeepSeek เพราะเครื่องมือ AI ดังกล่าวมีต้นทุนในการพัฒนาต่ำกว่าโมเดลอื่น และเป็นคู่แข่งสำคัญของโมเดล o1 ของ OpenAI
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 จีนกับ สปป.ลาว ได้ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จีน-ลาว” (China-Laos Artificial Intelligence (AI) Innovation Cooperation Center/ 中国—老挝人工智能创新合作中心) ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว
“ศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรม AI จีน-ลาว” ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (จีน) กับ สปป. ลาว เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือด้าน AI แห่งแรกที่จีนได้ร่วมลงนามกับชาติสมาชิกอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบของ สปป.ลาว ในยุค AI รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน

ในพิธีลงนามการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว มีนายเฉิน กัง (Chen Gang/陈刚) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง (ในโอกาสนำคณะผู้แทนเขตฯ กว่างซีจ้วงเดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ) และ ศ.ดร. บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยาน
ตามรายงานข่าว จีนกับ สปป.ลาว ใช้เวลารวดเร็วตั้งแต่การเจรจาจนถึงการลงนามโครงการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว ความสำเร็จในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนและ สปป.ลาวที่ร่วมกันไขว่คว้าโอกาสด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI และเป็นต้นแบบของการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมตาม “แถลงการณ์ร่วมจีน – อาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุม” (ASEAN-China Joint Statement on Facilitating Cooperation in Building a Sustainable and Inclusive Digital Ecosystem/中国—东盟关于推动建立可持续和包容性的数字生态合作联合声明) และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความร่วมมือในการส่งเสริมการเข้าถึงและการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ในภูมิภาค
การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรม AI จีน-อาเซียนระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับชาติสมาชิกอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนอง “แผนการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI” (The AI Capacity-Building Action Plan for Good and for All/人工智能能力建设普惠计划) ของรัฐบาลกลาง ที่มุ่งผลักดันการพัฒนา AI ให้เข้าถึงและสร้างคุณประโยชน์ครอบคลุมทั่วถึง อาทิ
- ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยี AI และสร้างประโยชน์ครอบคลุมอย่างทั่วถึง โดยการชักชวนสมาชิกอาเซียนก้าวสู่ยุค AI เป็นอีกแรงที่จะช่วยสร้าง “ประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน” ในยุคอัจฉริยะ
- ยกระดับขีดความสามารถขั้นพื้นฐานในยุคแห่งปัญญา (Intelligence Age – IA) โดยเป็นอีกแรงที่ช่วยชาติสมาชิกอาเซียนสร้างระบบการพัฒนา AI และการยกระดับขีดความสามารถขั้นพื้นฐาน
- ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจการค้า โดยผลักดันให้เทคโนโลยี AI เป็นตัวเสริมพลังให้กับภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ผลักดันการสร้างระบบนิเวศการพัฒนา AI ที่หลากหลายและสมบูรณ์
- ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน โดยยกระดับความเป็นอัจฉริยะด้านการใช้ชีวิตในชาติสมาชิกอาเซียน อาทิ การศึกษา สาธารณสุข
- ผลักดันการสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมในยุค IA กระตุ้นและคุ้มครองความหลากหลายทางอารยธรรม ช่วยอาเซียนสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมในยุคอัจฉริยะ และการช่วยคุ้มครองวัฒนธรรมและส่งเสริมการผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่าน “แผนการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI”
- บ่มเพาะ ‘หัวกะทิใหม่’ ในยุค IA แบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ด้าน AI ร่วมกับชาติสมาชิกอาเซียน เสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ด้าน AI และส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ
- ร่วมสร้างระบบจริยธรรมและความปลอดภัยในยุค IA รับมือความเสี่ยงด้านจริยธรรมและความปลอดภัยด้าน AI ร่วมกับชาติสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์และการแลกเปลี่ยนนโยบายด้าน AI แบ่งปันนโยบายและการปฏิบัติการเชิงเทคนิคด้านการทดสอบ การประเมินผล การรับรอง และการควบคุมตรวจสอบด้าน AI
เขตฯ กว่างซีจ้วงจะกระชับความร่วมมือกับชาติสมาชิกอาเซียนภายใต้ “แผนการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI” ของรัฐบาลกลาง โดยจะร่วมจัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์” กับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเริ่มต้นจาก “ศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จีน-ลาว” เพื่อช่วยส่งเสริมให้ชาติสมาชิกอาเซียนสร้างโมเดล AI ของตนเอง
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงจะผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนด้าน AI ข้อมูลข้ามพรมแดน และ การผลิตบุคลากร ผ่านการสร้างคลังข้อมูลภาษา (Corpus) โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) และฉากทัศน์การใช้งาน AI (Application Scenario) ผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้งานจริง ช่วยอาเซียนสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล ยกระดับความเป็นอัจฉริยะและความสุขของสังคม และส่งเสริมการใช้ AI ในทางที่ถูกต้อง สร้างประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และนำความผาสุกมาสู่ประชาชนมากขึ้น
บีไอซี เห็นว่า เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและโลกธุรกิจ และจะทวีความสำคัญที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต ในบริบทที่ประเทศไทยได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” และกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจจะพิจารณาพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI กับ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ในอนาคต เพื่อแลกเปลี่ยนและนำประสบการณ์ของจีนไปประยุกต์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูงในสาขาต่าง ๆ การพัฒนาทักษะกำลังคนด้าน AI การเสริมทักษะ AI กับสายงานอื่น (ทั้งการ Re-skills / Up-skills / New Skills และ Cross Skills) การส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยี ฝีมือคนไทยเพื่อคนไทย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุค Intelligent Age (IA)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (新华网) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (广西头条NEWS-中国新闻社广西分社) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ www.ai.in.th
ภาพ http://kjt.gxzf.gov.cn และ www.ai.in.th