เล่าแผนกว่างซี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างไร ถึงไร้ปัญหา PM 2.5 ต้นแบบการเรียนรู้ของประเทศไทย
12 Mar 2025
เรื่อง Talk of the town ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขปัญหากันอยู่ขณะนี้
ในอดีต จีนเคยผ่านประสบการณ์ที่ต้องแลก ‘ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ’ กับ ‘วิกฤตสิ่งแวดล้อม’ มาก่อน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเปลี่ยนสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรมของจีน ทำให้จีนต้องประสบปัญหา ‘ฝุ่นพิษ’ ปกคลุมท้องฟ้าขั้นวิกฤตในหลายเมืองทั่วประเทศ สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดันให้เรื่อง “การปรับปรุงคุณภาพอากาศ” กลายเป็นวาระแห่งชาติ
แต่… จีนในวันนี้ ได้กลับมา ‘ฟ้าสวย น้ำใส’ แล้ว สงสัยหรือไม่ว่า…จีนก้าวผ่านเรื่องราวดังกล่าวมาได้อย่างไร รัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมชนิด ‘เข้มข้น’ โดยในช่วงเริ่มต้นการทำ ‘สงครามต้านฝุ่น’ รัฐบาลจีนใช้การดำเนินนโยบาย ‘หักดิบ’ เพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษในอากาศ ส่วนกลางได้กำหนด KPI หรือ Key Performance Indicator (ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน) ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มีการสั่งปิดโรงงานเก่าและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างมลพิษทางอากาศ การจัดระเบียบสังคมด้วยการควบคุมปริมาณรถยนต์สันดาปส่วนบุคคลที่วิ่งบนท้องถนน และการห้ามเผาในพื้นที่เกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟาง ตอซัง และเศษพืชเหลือทิ้ง
ในระยะยาว รัฐบาลจีนกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศบนเส้นทาง ‘สีเขียว’ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Go Green และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมุ่งลดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลพิษ พร้อมกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผนวกเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) ที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละมณฑลต่างมีอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งแตกต่างกันไป
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมไว้ข้างหลัง โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินรางวัล/เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือและสร้างแรงจูงใจให้นิคม/อุตสาหกรรมล้าสมัยเร่งปรับปรุงเทคโนโลยีในสายการผลิตให้ทันสมัย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ปี 2567 รัฐบาลกว่างซีได้จัดสรรงบประมาณการคลัง 3,225 ล้านหยวน หรือกว่า 16,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรรมสีเขียวและขับเคลื่อนอุตสาหกรรรมยุคใหม่ กล่าวคือ
การเร่งผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตมุ่งประหยัดพลังงานและลดการปล่อยของเสีย เขตฯ กว่างซีจ้วงสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นเร่งปรับปรุงเทคโนโลยีให้ประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ไฟฟ้าพลังงานความร้อน โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Nonferrous Metals) วัสดุก่อสร้าง กระดาษ และปิโตรเคมี
ปี 2567 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้จัดสรรงบประมาณ 110 ล้านหยวน เพื่อใช้สนับสนุนโรงงานในพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีให้ทันสมัย จำนวน 42 โครงการ
การเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ เขตฯ กว่างซีจ้วงสนับสนุนเงินรางวัลแบบจ่ายครั้งเดียวให้แก่นิคมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจที่ได้รับการยืนยัน (Identify) ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับมณฑลและระดับชาติ
ปี 2567 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้จัดสรรงบประมาณ 29 ล้านหยวน เพื่อใช้สนับสนุนโครงการนำร่องด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงงานและการออกแบบผลิตภัณฑ์ จำนวน 126 โครงการ และการอุดหนุนดอกเบี้ย “สินเชื่อสีเขียว” ให้แก่วิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับมณฑลและระดับชาติเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาและยกระดับสายการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพเข้มข้น (Economical and Intensive Use) โดยโครงการการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหมุนเวียนมีสิทธิได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 1 – 4 ล้านหยวน โดยคิดจากมูลค่าการผลิตจริง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการแปรรูปเศษวัสดุเหล็ก อลูมิเนียมรีไซเคิล ทองแดงรีไซเคิล ตะกั่วรีไซเคิล สังกะสีรีไซเคิล รวมถึงการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากเศษพลาสติก ล้อยางเก่า และแบตเตอรี่เก่าของรถยนต์พลังงานทางเลือก
ปี 2567 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้จัดสรรงบประมาณ 17 ล้านหยวน เพื่อใช้ส่งเสริมกระตุ้นการรวมกลุ่ม (Cluster) และการสร้างมาตรฐาน (Standardization) ในภาคธุรกิจรีไซเคิล
นัยสำคัญของการดำเนินนโยบายข้างต้นของรัฐบาลกว่างซี สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวกับอุตสาหกรรมดั้งเดิมของกว่างซีที่ ‘ไม่ใช่’ ตัวเลือกที่ต้องเลือก แต่เป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปด้วยกัน โดยมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม พร้อมกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บีไอซี เห็นว่า ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศจีนในการสนับบสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย/มาตรการต่าง ๆ เพื่อต่อสู้และแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมในประเทศได้อย่าง ‘อยู่หมัด’ และร่วมกันกรุยทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายสาขา ซึ่งเป็น ‘ภาพย่อ’ ที่สะท้อนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตในโลกปัจจุบัน และอาจจะเป็น ‘กระแสหลัก’ ของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแสวงหาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสีเขียวกับเขตฯ กว่างซีจ้วง(จีน) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gxt.gxzf.gov.cn (广西工业信息化厅) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ https://czt.gxzf.gov.cn (广西财政厅) วันที่ 20 มกราคม 2568