“รถยนต์ไฟฟ้า” —— อาวุธ (ไม่) ลับของเมืองหลิ่วโจว โอกาสต่อยอดการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจไทย

5 Feb 2025

“รถยนต์ไฟฟ้า” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า รถยนต์ EV (Electric Vehicle) กลายเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่น่าจับตาด้วยแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และอุปทานในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะใน “จีนแผ่นดินใหญ่” สวนทางกับตลาดรถยนต์สันดาป (รถยนต์เบนซิน/ดีเซล) ที่หลายแบรนด์ต้อง ‘กุมขมับ’ กับยอดขายที่ลดลง

รู้หรือไม่… การผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกคันแรก จนถึงคันที่ 10 ล้าน จีนใช้เวลา 27 ปี
แต่!!! จากคันที่ 10 ล้าน ถึงคันที่ 20 ล้าน จีนใช้เวลาเพียง 1 ปี กับ 5 เดือนเท่านั้น


ในรายงานศึกษาวิจัยการพัฒนาพลังการผลิตคุณภาพใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์จีน (中国汽车新质生产力发展调研报告) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย China Economic Information Service หรือ CEIS (中国经济信息社) ในสังกัดสำนักข่าวซินหัว ร่วมกับ China Automotive Engineering Research Institute หรือ CAERI (中国汽车工程研究院) ชี้ว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น “เสาหลักเศรษฐกิจอันดับ 1” ของจีน ห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

จากแนวโน้มตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในจีน ชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้ใช้งานหันมาใช้รถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่า… “ความประหยัดคุ้มค่า” (ต้นทุนด้านเชื้อเพลิง) เป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะการชาร์จไฟฟ้ามีราคาถูกกว่าการเติมน้ำมัน อีกทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐ ทั้งการอุดหนุนการซื้อขายรถยนต์ EV และการเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้า ทำให้ตลาดรถ EV ในจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการทำตลาดต่างประเทศด้วย

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งชาติจีน (China Association of Automobile Manufacturers หรือ CAAM) สะท้อนให้เห็นทิศทางการเติบโตของตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก (New Energy Vehicle) ในจีน ระบุว่า ปี 2567 ประเทศจีนมียอดผลิตรถยนต์รวม 31.28 ล้านคัน และมียอดขายรถยนต์รวม 31.43 ล้านคัน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

ในจำนวนข้างต้น เป็นยอดการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก 12.88 ล้านคัน และยอดขายรถยนต์พลังงานทางเลือก 12.86 ล้านคัน สร้างสถิติยอดขายทะลุหลัก 10 ล้านคันเป็นครั้งแรก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.9 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ในบรรดารถยนต์พลังงานทางเลือก พบว่า รถยนต์ EV ครองสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 60 และรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอินมีสัดส่วนร้อยละ 40

แน่นอนว่า… เมื่อพูดถึงรถยนต์ EV ในประเทศจีนต้องมี ‘ที่นั่ง’ ของเมืองหลิ่วโจว (Liuzhou City/柳州市) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงรวมอยู่ด้วย บนพื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่งกับการเป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์สันดาปที่สำคัญของจีน เมืองหลิ่วโจวกำลังเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ EV โดยมีค่ายรถยนต์รายใหญ่อย่างบริษัท SGMW (SAIC-GM-Wuling Automobile / 上汽通用五菱) เป็น ‘พระเอก’ ของวงการรถยนต์ EV กว่างซี

ก้าวสำคัญ “ก้าวใหม่” ของ SGMW ในอุตสาหกรรมยานยนต์จีน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 หลังจากที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Wuling Xingguang S (五菱星光S) เคลื่อนตัวออกจากสายการผลิต ทำให้บริษัท SGMW เป็นค่ายรถยนต์แบรนด์จีนรายล่าสุดที่สามารถทำยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์สะสมทะลุ 30 ล้านคัน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากตลาดต่างประเทศด้วย โดยบริษัท SGMW เป็นค่ายรถยนต์จีนรายแรกที่ ‘ก้าวออกไป’ ตั้งโรงงานแบบครบวงจรทั้งห่วงโซ่การผลิตในต่างประเทศ ที่เกาะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลบริษัท SGMW ทำยอดขายรถยนต์ EV สะสมทะลุ 2.4 ล้านคัน ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เฉพาะปี 2567 บริษัทฯ เปิดตัวรถยนต์พลังงานทางเลือก 10 รุ่น ผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกได้ทะลุ 8 แสนคัน (คันที่ 8 แสน ออกจากสายการผลิตเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567) ทำยอดขายได้มากกว่า 8 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 (YoY) และมีการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ไปต่างประเทศรวมกว่า 2.25 แสนคัน/ชุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ความก้าวหน้าของบริษัท SGMW มีรากฐานสำคัญมาจากการสร้างสรรค์ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์” ผ่านโมเดลความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคการวิจัย และภาคการประยุกต์ใช้จริง

บริษัท SGMW มีความร่วมมือกับหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยพัฒนาและทดสอบรับรองมาตรฐานยานยนต์” ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท SGMW โดยศูนย์ดังกล่าวใช้เพื่อทดสอบคุณภาพยานยนต์ อาทิ การชนกระแทก ระดับเสียง ความสั่นสะเทือน และความกระด้าง ระบบส่งกำลังรถยนต์ เครื่องยนต์ การปล่อยมลพิษของรถยนต์ และการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการทดสอบระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน” หรือที่เรียกสั้นว่า ACES (Autonomous, Connected, Electric, and Shared) ที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยเทคโนโลยี ACES จะเป็นเทคโนโลยีแกนที่เข้ามาเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ EV

นอกจากนี้ ยังมี “ห้องปฏิบัติการยานยนต์พลังงานทางเลือกกว่างซี” (Guangxi Laboratory of New Energy Automobile/广西新能源汽车实验室) ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของศูนย์วิจัยพัฒนาและทดสอบรับรองมาตรฐานยานยนต์ จัดตั้งขึ้นเพื่อคิดค้นและสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ (Breakthrough technology) ในการพัฒนาของรถยนต์พลังงานทางเลือก ปัจจุบัน มีห้องปฏิบัติการย่อยที่จัดตั้งแล้ว 24 สาขา อาทิ (1) ห้องปฏิบัติการวัสดุโลหะขึ้นรูป  (2) ห้องปฏิบัติการใช้อุปกรณ์ควบคุมและชิป (3) ห้องปฏิบัติการระบบเสียงอัจฉริยะ และ  (4) ห้องปฏิบัติการแบตเตอรี่ขับเคลื่อนและวัสดุหลัก (Key Materials)

ปัจจุบัน มีหน่วยงาน/องค์กรภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมแล้วมากกว่า 50 แห่ง ดำเนินโครงสร้างสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกว่างซี 47 รายการ งานที่ได้รับความคุ้มครองทางสิทธิบัตร 682 รายการ งานที่ได้รับรางวัลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมณฑลขึ้นไป 13 รายการ

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2567 “เมืองหลิ่วโจว” เป็นเมืองที่มีอัตราการเข้าถึง(Penetration Rate) รถยนต์พลังงานทางเลือกมากที่สุดในประเทศจีนที่ร้อยละ 72 หมายความว่า ยอดขายรถยนต์ทุก 100 คัน เป็นรถยนต์พลังงานทางเลือก 72 คัน นอกจากนี้ ยังมีเมืองเป๋ยไห่ (อันดับ 4 มี Penetration Rate ร้อยละ 69.5) และเมืองยวี่หลิน (อันดับ 6 มี Penetration Rate ร้อยละ 68.9) ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศจีน

ทั้งนี้ หากมองในภาพใหญ่ ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2567 เขตฯ กว่างซีจ้วงมี Penetration Rate อยู่ที่ร้อยละ 61.5 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน และสูงเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก รองจากมณฑลไห่หนาน หรือที่คนไทยเรียกว่าเกาะไหหลำ (Penetration Rate ร้อยละ 68.8) และนครเทียนจิน (Penetration Rate ร้อยละ 67)

บีไอซี เห็นว่า ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้แสวงหาความร่วมมือกับเขตฯ กว่างซีจ้วง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก และภาคอาชีวศึกษา อาทิ การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์พลังงานทางเลือก ชิ้นส่วนยานยนต์ และเทคโนโลยีแกน (อาทิ แบตเตอรี่ ระบบควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า) การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจเพื่อต่อยอดไปสู่การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับกว่างซี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของทั้งสองฝ่ายต่อไปอนาคต



จัดทำโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ http://gx.news.cn (新华网广西频道) วันที่ 06 และ 13 มกราคม 2568  
เว็บไซต์ www.thepaper.cn (澎湃新闻) วันที่ 10 มกราคม 2568
เว็บไซต์ www.zhgssbgw.com (中华工商时报) วันที่ 06 มกราคม 2568   
เว็บไซต์ https://finance.sina.com.cn (新浪网) วันที่ 24 ธันวาคม 2567
เว็บไซต์ www.caeri.com.cn (中国汽车工程研究院) วันที่ 29 กันยายน 2567
เว็บไซต์ https://gxxnyqch.sgmw.com.cn  (广西新能源汽车实验室)
ภาพประกอบ www.stcn.com

เมืองหลิ่วโจวรถยนต์ไฟฟ้ารถEV

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน