นครหนานหนิงเข้าวิน “เมืองทดลองระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่ว” ส่องโอกาสไทยในนิเวศธุรกิจ

10 Jan 2025

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) และบริษัทที่ปรึกษา Mckinsey คาดการณ์ว่า ในปี 2578 เศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) จะครองส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้นในมูลค่าเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าเศรษฐกิจอวกาศของโลกจะขยายตัวจาก 6.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เพิ่มเป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2578

นิยามของ “เศรษฐกิจอวกาศ” พูดกว้าง ๆ หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเหนือพื้นโลก โดยอาศัยทรัพยากร เทคโนโลยี และองค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก รวมถึงประเทศจีน

ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในวงการอวกาศ ความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทีมนักวิจัยระดับแนวหน้า องค์ความรู้ที่ทันสมัย ตลอดจนการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในอุตสาหกรรมที่หลากหลายและการบริการรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางทหาร อุตุนิยมวิทยา ภูมิสารสนเทศ การสื่อสารทางไกล การขนส่งและประกันภัย การเดินเรือ การบิน การท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาเมือง

ในรายงานการปฏิบัติงานของรัฐบาล ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ได้มีการพูดถึงการสนับสนุนการพัฒนา “อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์” นับเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งรวมถึงการใช้ประโยชน์จาก “ระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่ว” (BeiDou Navigation Satellite System: BDS) ซึ่งมีความทันสมัย แม่นยำเทียบชั้นระบบ GPS ในการพัฒนาธุรกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติจีน ได้ประกาศรายชื่อ “เมืองทดลองการประยุกต์ใช้ระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่วอย่างแพร่หลายในด้านอุตสาหกรรมและสารสนเทศ” จำนวน 39 เมือง ใน 22 มณฑล ซึ่งรวมถึง “นครหนานหนิง” ด้วย ถือเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติจีน ได้วางแนวทางการพัฒนาของเมืองทดลองฯ ภายใต้ 3 คีย์เวิร์ด คือ การบริโภคขนาดใหญ่ (Mass consumption) การผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial manufacturing) และนวัตกรรมเชิงบูรณาการ (Integrated Innovation) โดยให้เมืองสามารถ ‘เลือกทางเดิน’ ที่สอดประสานกับรากฐานธุรกิจ/อุตสาหกรรมดาวเทียมเป๋ยโตวในพื้นที่ รวมถึงสถานการณ์และจุดเด่นในการพัฒนาของเมือง เพื่อส่งเสริมการอัปเกรดอุปกรณ์และแอปพลิเคชันดาวเทียมเป๋ยโต่ว รุ่นที่ 3 อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทำไมต้อง “หนานหนิง”?? เมื่อปี 2560 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้เริ่มต้นโครงการนำร่องการประยุกต์ใช้ดาวเทียมเป๋ยโต่วเชิงบูรณาการ นครหนานหนิงได้พัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business ecosystem) เพื่อสนับสนุนและรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ระบบดาวเทียมเป๋ยโต่วอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในพัฒนาการสำคัญ คือ การจัดตั้งแพลตฟอร์มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดาวเทียม ที่มีเป้าหมายเพื่อมุ่งพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจในจีน (กว่างซี) และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับอาเซียน ตามแนวนโยบายการเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยแพลตฟอร์มที่โดดเด่น ได้แก

  • ศูนย์ดาวเทียมเป่ยโต่วจีน-อาเซียน (China-ASEAN Beidou/GNSS (Nanning) Center/中国-东盟北斗/GNSS(南宁)中心)
  • นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Geographic Information and Satellite Application Industrial Park/中国-东盟地理信息与卫星应用产业园)
  • ศูนย์ประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำรวจระยะไกลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Satellite Remote Sensing Application Center /中国—东盟卫星遥感应用中心)
  • ฐานสาธิตนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Space Information Technology Innovation Demonstration Base/中国—东盟空间信息技术创新示范基地)
  • ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH/中国—东盟信息港)
  • ศูนย์ตรวจสอบและประเมินผลิตภัณฑ์ (ระบบ) ดาวเทียมเป๋ยโต่ว (北斗产品(系统)检测评估中心)
  • สมาคมธุรกิจประยุกต์ใช้ดาวเทียมกว่างซี (The Association of GX Satellite Application Industries/广西卫星应用产业协会)

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา นครหนานหนิงได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นสถานที่ถาวรของการจัดงาน China-ASEAN Expo และ China-ASEAN Information Port Forum เป็นเวทีการประชุมด้านระบบ BDS หลายครั้ง ได้ดำเนินกิจกรรม China Beidou· ASEAN Tour เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียน และเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้านระบบ BDS

ปัจจุบัน นครหนานหนิงได้ใช้ประโยชน์จากระบบ BDS ภายใต้โมเดล Beidou plus (คือ การนำระบบ BDS ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ) ช่วยสนับสนุนบริการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงในหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาลอัจฉริยะ การจัดการเมืองในเชิงพื้นที่ และการขนส่งข้ามพรมแดนกับอาเซียน ซึ่งล้วนเป็นการสร้างนิเวศธุรกิจและเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับ “นครหนานหนิง” ในการประยุกต์ใช้ระบบ BDS ให้แพร่หลายในวงกว้าง

เจ้าหน้าที่สำนักอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศนครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่าในอนาคต นครหนานหนิง จะเร่ง (1) ผลักดันการปรับปรุงและพัฒนาฉากทัศน์การประยุกต์ใช้ระบบ BDS สำหรับผู้ใช้งานปลายทาง อาทิ จักรยานไฟฟ้าให้เช่าสาธารณะ จักรยานไฟฟ้าส่วนตัว และจักรยานไฟฟ้าที่ใช้เพื่อส่งเดลิเวอรี่ (2) ส่งเสริมการใช้งานระบบ BDS เชิงบูรณาการสำหรับผู้ใช้งานปลายทางให้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถประจำทางสาธารณะระบบไฮบริด รถแท็กซี่ (รวมถึงบริการ Ride-hailing) และรถส่วนราชการ และ (3) ขยายขอบเขตการใช้งานระบบ BDS ให้ครอบคลุมถึงการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การจัดการภาพลักษณ์และภูมิทัศน์ของเมือง การบริการภาครัฐ และเศรษฐกิจการบินระดับต่ำ (Low-altitude economy) โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินภารกิจที่ส่วนกลางมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงภายในปี 2569

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่จีนพัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียมของตัวเองเป็นการสร้างความมั่นคงด้านเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบนำทางของประเทศอื่น และที่สำคัญเป็นการขจัดความเสี่ยงจากการถูก ‘ตัดขาดการเข้าถึง’ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน โดยสามารถใช้ระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว (BDS) แทนระบบ GPS โดยให้บริการทั่วโลก

เป็นเวลายาวนานถึง 30 ปีนับตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการพัฒนาระบบนำร่องดาวเทียมเป๋ยโต่ว รุ่นที่ 1 (BDS-1) ในปี 2537 จนถึงปัจจุบันเป็นระบบ BDS-3 มีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และช่างเทคนิคมากกว่า 300,000 คนจากองค์กร/สถาบัน มหาวิทยาลัย และธุรกิจต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยระบบ BDS-3 เป็นระบบที่มีความแม่นยำสูง ประกอบด้วยดาวเทียม จำนวน 30 ดวง (ดาวเทียม BDS ในวงโคจรต่าง ๆ ทั่วโลก มีจำนวน 60 ดวง) โดยดาวเทียม 2 ดวงสุดท้ายของระบบ BDS-3 (ดาวเทียมสำรอง ดวงที่ 59 และ 60) ถูกปล่อยขึ้นจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชางในมณฑลเสฉวนด้วยจรวดลองมาร์ช 3บี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567

ในงานสัมมนาครบรอบ 30 ปีของการพัฒนาระบบ BDS ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 หัวหน้าวิศวกรของระบบ BDS ได้เปิดเผยว่า จีนได้วางแผนพัฒนาระบบ BDS รุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะการพัฒนาเทคโนโลยีหลัก (Core technology) ให้สำเร็จภายในปี 2568 และจะทดลองส่งดาวเทียม 3 ดวงขึ้นสู่วงโคจรภายในปี 2570 เพื่อการทดสอบเทคโนโลยีใหม่ จากนั้นจะเริ่มทยอยส่งดาวเทียมเพื่อสร้างเครือข่ายดาวเทียม BDS รุ่นใหม่ในปี 2572 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2578 โดยระบบ BDS รุ่นใหม่จะเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านการนำร่องระบุพิกัดที่มีความแม่นยำสูงมากยิ่งขึ้นและทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ ครอบคลุมทั้งภาคพื้นผิวโลกและอวกาศใกล้โลก

บีไอซี เห็นว่า ระบบ BDS จะทวีบทบาทการให้บริการในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น โดย“นครหนานหนิง” จะเป็นหนึ่งในหัวเมืองสำคัญที่มีบทบาทนำในฐานะพื้นที่คลัสเตอร์ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบ BDS และเป็นเมืองทดลองฯ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสตาร์ทอัปไทยสามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการแสวงหาช่องทางความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองทดลองระบบ BDS ที่มีความใกล้กับอาเซียนมากที่สุด ผ่านแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศที่ตั้งอยู่ในนครหนานหนิง ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ การฝึกอบรมบุคลากร และ การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ บริการ และองค์ความรู้ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดาวเทียม BDS ในสาขาต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับนิเวศเศรษฐกิจ (ecosystem) ของประเทศไทย การดึงดูดให้องค์กรในกว่างซีเข้ามามีส่วนร่วมใน ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศของไทยเพื่อนําไปสู่การต่อยอดอุตสาหกรรม New S-Curve สร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและจีน (กว่างซี) ร่วมกัน



จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://finance.sina.com.cn (新浪网) วันที่ 27 ธันวาคม 2567
เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ www.news.cn (新华网) วันที่ 17 กรกฎาคม 2567
เว็บไซต์ https://cn.weforum.org (世界经济论坛) วันที่ 3 มิถุนายน 2567
เว็บไซต์ www.mckinsey.com วันที่ 8 เมษายน 2567

นครหนานหนิงเมืองทดลองระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่วระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่ว

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน