พาส่อง… เมืองไป่เซ่อเดินเกมอย่างไรในอุตสาหกรรม “พลังงานไฮโดรเจน” พร้อมค้นหาช่องทาง “ประเทศไทย” ร่วมเอี่ยวได้หรือไม่
19 Sep 2024เมื่อไม่นานมานี้ เมืองไป่เซ่อ (Baise City/百色市) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดป้าย “ฐานอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจีน-อาเซียน” นับเป็นก้าวสำคัญในการเบิกทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนและการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนในมิติที่หลากหลายให้กับเมืองไป่เซ่อ และเขตฯ กว่างซีจ้วง
“พลังงานไฮโดรเจน” ได้รับการขนามนามเป็น 1 ใน “พลังงานทางเลือกแห่งโลกอนาคต” ที่จะเข้ามาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) สอดรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) และ “การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์” (Net Zero Emission) รวมถึงประเทศจีนด้วย
ทำไมต้องเป็น “ไฮโดรเจน” นั่นเพราะว่า “ไฮโดรเจน” เป็นพลังงานสะอาดที่สามารถสังเคราะห์ได้จากแหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติหลากหลายประเภท ให้ค่าพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงกว่าพลังงานชนิดอื่น เมื่อเกิดการเผาไหม้จะเหลือเพียงน้ำและออกซิเจน สามารถนำไปประยุกต์เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า และการขนส่ง
การพัฒนา “อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน” ของเมืองไป่เซ่อ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมเชิงลึก ภายใต้คีย์เวิร์ด “กำลังผลิตคุณภาพใหม่” หรือ New quality productive forces ซึ่งเป็นกำลังการผลิตขั้นสูงที่เน้นนวัตกรรมเป็นหลัก และสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มุ่งเป้าหมายสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goal)
นายเก่อ กั๋วเคอ (Ge Guoke/葛国科) นายกเทศมนตรีเมืองไป่เซ่อ เปิดเผยว่า เมืองไป่เซ่อมุ่งให้ความสำคัญกับการเร่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (emerging Industry) อย่างพลังงานทางเลือก และวัสดุใหม่ (new material) รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่าง “อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน” โดยเฉพาะในสาขาการผลิตอุปกรณ์การผลิต การขนส่งและเก็บรักษา อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เซลล์เชื้อเพลิง รถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการนำร่องประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์
รัฐบาลเมืองไป่เซ่อได้สนับสนุนแผนงานพัฒนา “ฐานอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจีน-อาเซียน” โดยมีบริษัท China Electronic Industry Development (Guangxi) Co., Ltd. (中电产业发展(广西)有限公司) เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และมีบริษัท Beijing SinoHytec Holding Co., Ltd. (北京亿华通科技股份有限公司) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการวิจัยพัฒนาและผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แสดงบทบาทเป็น “ห่วงหลัก” ที่ต่อชุดโซ่อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยสองบริษัทดังกล่าวมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ด้านพลังงาน (Energy Electronics Industry) วัสดุแห่งอนาคต และพลังงานแห่งอนาคต
การเข้ามาของ SinoHytec ได้ช่วยดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หลัก (core products) และอะไหล่ชิ้นส่วนสำคัญ (key component) จากนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเหอเป่ยเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อย อาทิ ชุดเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell stack) เมมเบรนประกอบขั้วไฟฟ้า (membrane electrode assembly, MEA) และระบบขับเคลื่อนเซลล์เชื้อเพลิง
ในระยะต่อไป เมืองไป่เซ่อจะส่งเสริมการลงทุนในโครงการยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงประกอบสำเร็จ (Fuel Cell Vehicle หรือ FCV) รวมถึงผลิตภัณฑ์หลักในการใช้งานด้านการกักเก็บพลังงานและการผลิตไฮโดรเจน อาทิ เครื่องอัดอากาศ (air compressor) อุปกรณ์ผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (water electrolysis hydrogen production equipment) เครื่องอัดอากาศแบบไออะเฟรม (diaphragm compressor) เซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แข็ง (solid oxide fuel cell, SOFC) และอุปกรณ์กักเก็บไฮโดรเจน
นอกจากนี้ เมืองไป่เซ่อจะจัดตั้ง “สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจีน-อาเซียน” (中国—东盟氢能产业研究院) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจาก “การวิจัยและพัฒนา” ไปสู่ “การผลิตเชิงอุตสาหกรรม” ภายใต้กลไกการทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพระหว่าง “ภาครัฐ+ภาคอุตสาหกรรม+สถาบันการศึกษา+ภาคธุรกิจ” ทั้งการส่งเสริมภาคธุรกิจในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยตนเอง (self-dependent innovation) การสนับสนุนให้สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยเร่งฝีก้าวการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ให้ภาคอุตสาหกรรม
เพื่อรับมือกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม การผุดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ และโมเดลธุรกิจใหม่ บีไอซี เห็นว่า “กลไกการทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพ” เป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ เพราะการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วย ‘ร้อยเรียง’ ห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่หัวกะทิ (talent) ห่วงโซ่การศึกษา และห่วงโซ่นวัตกรรมให้เชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะภาคการศึกษา/การวิจัย โดยสถาบันการศึกษาของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับรื้อและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง (Demand Driven) เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา (ไทย-กว่างซี) และความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางตรงให้นักศึกษามีทักษะความรู้ความสามารถที่ตรงตามอาชีพ
ในบริบทที่ประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงานกำลังผลักดันแผนดำเนินการพัฒนาไฮโดรเจนของประเทศไทย ในระยะ 30 ปี (แผนงาน 3 ระยะ ระหว่างปี 2563 – 2593) โดยปัจจุบันอยู่ในระยะของการเตรียมความพร้อม (แผนงานระยะสั้น ระหว่างปี 2563 – 2573) บีไอซี เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย สามารถเรียนรู้และพัฒนาความร่วมมือกับเมืองไป่เซ่อ (รวมถึงเขตฯ กว่างซีจ้วง/จีน) ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธุรกิจ การลงทุน/ร่วมทุนด้านการพัฒนาไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมไฮโดรเจน ซึ่งอาจจะช่วยให้สองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” “การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์” และ “เศรษฐกิจแบบยั่งยืน” ได้ก่อนเวลา
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://m.gxcounty.com (广西县域经济王) วันที่ 07 กันยายน 2567
เว็บไซต์ www.gxbstv.com (百色广播电视台) วันที่ 06 กันยายน 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 05 กันยายน 2567
หนังสือพิมพ์ Youjiang Daily (右江日报) วันที่ 05 กันยายน 2567
ภาพประกอบ https://enhrd.dede.go.th และ www.163.com